เจ้าคณะจังหวัดอุบลฯ หนุนงาน อุบลใบลานเสวนา ครั้งที่ 1
วันที่ 16 สิงหาคม 2562 พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงาน "อุบลใบลานเสวนา ครั้งที่ 1" ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) อ.เมือง อุบลราชธานี พร้อมกับมอบปัจจัยให้คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม เพื่อดำเนินการสานต่อกิจกรรมนี้ใรครั้งต่อๆ ไป โดยพระเดชพระคุณ พระเทพวราจารย์ ได้ให้โอวาทข้อคิดเกี่ยวกับเอกสารใบลานไว้ 3 หลักด้วยกัน กล่าวคือ ใบลานนั้นเป็น "หลักฐาน" ใบลานเป็น "หลักคิด" และใบลานนั้นเป็น "หลักธรรม" อยากเห็นใบลานมีชีวิต ถูกหยิบจับออกมาศึกษา ถอดความ มากกว่าเห็นแต่เก็บอยู่ในตู้เฉยๆ
ภายในงานทีการจัดนิทรรศการ "อุบลใบลานนิทัศน์" โดย ผศ.ดร.บูญชู ภูศรี จากคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ นิทรรศการ "สมุดหมายเหตุรายวัน โรงเรียนบ้านเกษม อ.ตระการพืชผล อุบลราชธานี และการนำชมพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม
ข้อมูลจากหนังสือ "อุบลใบลานนิทัศน์ อักษร ประวัติศาสตร์ และศาสนา" โดย ผศ.ดร.บูญชู ภูศรี จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงเอกสารใบลานเมืองอุบลราชธานี ศึกษาจาก 6 วัด เป็นวัดที่ตั้งในตัวเมืองอุบลราชธานี 3 วัด และนอกตัวเมืองอุบลราชธานีอีก 3 วัด พบว่า มีเอกสารใบลานที่มีอายุเก่ากอนการตั้งวัด แสดงว่า มีการเคลื่อนย้ายเอกสารมาจากแหล่งอื่นด้วย
โดยเอกสารใบลานส่วนใหญ่บันทึกเรื่องราวของศาสนา มีทั้งเอกสารที่มีอายุก่อนการสร้างบ้านแปงเมือง และเอกสารที่สร้างขึ้นในเมืองอุบลราชธานี ซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ และเผยแพร่ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
วัดกลาง อ.เมือง อุบลราชธานี เป็นวัดเก่าแก่รองจากวัดหลวง ในอดีตพบเอกสารใบลานเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันเอกสารใบลานพบจำนวนน้อยลง ใบลานที่มีความโดดเด่นของวัดกลางคือ ใบลานเรื่องเวสสันดร ซึ่งแต่งเป็นโคลงสาร ผู้แต่ คือ นายสัสดี แสนสี บ้านหัวลิง อ.ธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด แต่ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 มีปริวรรตเป็นภาษาไทยแล้วโดย มหาสิลา วีระวงศ์ ได้ชำระประมาณ พ.ศ.2478-2480 และมีการพิมพ์ซ้ำอีกเมื่อ พ.ศ.2523 โดยพระมหานิยม อุตตโม (ชาพลเมือง) อาจารย์ใหญ่ภาษาบาลี วัดฑาตุ (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นผู้ตรวจชำระ
วัดเกษมสำราญ เดิมทีเป็นวัดอยู่ในเมืองเก่า คือ เมืองเกษมสีมา ขึ้นตรงกับเมืองอุบลราชธาี ทั้งนี้ วัดเกษมสำราญเป็นวัดที่มีความเป็นมายาวนาน และมีเอกสารใบลานที่สมบูรณ์จำนวนมาก มีความโดดเด่นของใบลานหลายด้าน ทั้งด้านความเก่าของเอกสารใบลาน คุณค่าของเรื่อง (เรื่องหายาก) คุณค่าของผู้จารใบลาน และที่สำคัญ ใบลานอยู่ในสภาพที่ดีเยี่ยม ส่วนใหญ่จบเรื่อง หรือมีจำนวนผูกครบ ใบลานที่โดดเด่นจึงมีมากมาย อาทิ เอกสารใบลานเรื่องเล่าที่เล่าในชุมชน คือเรื่อง จัวเพียมาลา
วัดดุมใหญ่ ตั้งอยู่ที่ ต.ดุมใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ อุบลราชธานี เป็นวัดที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 24 แต่มีเอกสารใบลานจำนวนมาก รวมถึงมีการสร้างตู้คัมภีร์โดยคนในท้องถิ่น เอกสารใบลานเป็นหลักฐานชั้นต้นของชุมชน ที่บันทึกเรื่องราวทางพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ชุมชน รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ไว้
วัดมณีวนาราม เป็นวัดที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน มีการรวบรวมเอกสารใบลานไว้เป็นจำนวนมาก จากการจัดระบบของกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารใบลาน พบว่ามีจำนวน 398 มัด เอกสารใบลานมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 ถึง 26 โดยพุทธศตวรรษที่ 24 พบมากที่สุด
ใบลานที่มีศักราชเก่าที่สุดในวัดมณีวนาราม คือ โยชนาสุโพธาลังการ มีจำนวน 3 ผูก ซึ่งเขียนเลขศักราชไว้ที่หน้าปก พ.ศ.2112 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง
วัดหนองหลัก เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งมานานตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 24 มีเอกสารใบลานหลากหลายประเภท ทั้งเอกสารใบลาน สมุดข่อย มีการใช้อักษรที่หลากหลาย ทั้งอักษรธรรม อักษรไทยน้อย อักษรขอมไทย นับเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งในการศึกษาเอกสารใบลาน
วัดหนองหลัก เป็นสำนักเรียนเก่าที่มีศิษยานุศิษย์จำนวนมาก ใบลานวัดหนองหลักจึงมีความหลากหลาย มีที่มาจากอย่างน้อย 4 แห่งด้วยกัน ไดแก่ จากเวียงจันน์ จากภาคกลางของไทย ใบลานที่บูรพาจารย์วัดหนองหลักสร้าง และใบลานที่มาจากพื้นที่ใกล้เคียง/ภาคอีสาน
วัดหลวง เป็นวัดแรกประจำเมืองอุบลราชธานี เอกสารใบลานของวัดหลวงจึงมีเป็นจำนวนมาก ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2486-2488 เกิดสงครามอินโดจีน ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ผ้าห่อคัมภีร์จึงถูกโขมยนำไปขายด้วย เป็นเหตุให้เอกสารใบลานกระจัดกระจาย แตกมัด แตกผูก สูญเสียตามธรรมดาธรรมชาติ ทางวัดจึงบรรจุในกระสอบและฝังดินไว้ เป็นเหตุให้ปัจจุบันเอกสารใบลานของวัดหลวงเหลือน้อย
พบใบลานวัดหลวงที่มีศักราชเก่าที่สุด คือ เอกสารที่ไม่ปรากฎเรื่อง พบเพียงใบหลบหน้าระบุว่า เพิงแสนกับชายา (คำว่า "เพิงแสน" น่าจะเป็น "เมืองแสน") สร้างไว้ในปีจุลศักราช 972 ตรงกับ พ.ศ.2153