สู้ถึงฎีกา คดีฟ้องอธิการ ม.อุบลฯ ศาลชี้ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง ยกฟ้อง !!
วันที่ 11 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีอาญา กรณี นางรัชนี นิคมเขตต์ โจทก์ ยื่นฟ้อง รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (ม.157) โดยศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ยกฟ้องโจทก์
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้งข้าราชการในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำเลยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ และมีคำสั่งลงโทษปลดโจทก์ออกจากราชการ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ) ซึ่งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (อ.ก.พ.อ) มีมติให้เพิกถอนคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ โดยให้โจทก์กลับเข้าราชการดังเดิม แต่ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์ ร้อยละ 5 เป็นเวลา 3 เดือน
จำเลย ทราบมติของคณะอนุกรรมการดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2556 แต่จำเลยไม่ยอมเพิกถอนคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ และสั่งให้โจทก์กลับเข้าราชการ แต่จำเลยไม่ยอมเพิกถอนคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการตามมติของ อ.ก.พ.อ ทำหน้าที่แทน ก.พ.อ. ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
จำเลยต่อสู้ว่า เหตุที่จำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามมติ อ.ก.พ.อ.ดังกล่าวนั้น เนื่องมาจากฝ่ายกฎหมายของมหาวิทยาลัยมีความเห็นเสนอจำเลยว่า มติของ อ.ก.พ.อ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเหตุผลสำคัญว่า อ.ก.พ.อ. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยขี้ขาดอุทธรณ์ตามกฎหมาย โดยอ้างถึงบันทึกความเห็นของ สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเคยวินิจฉัยวางแนวไว้ว่า อำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดพิพาท ที่ไม่อาจมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการหรือบุคคลอื่นใด ทำหน้าที่แทนได้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพทั้งสิทธิและหน้าที่ของคู่กรณี และจำเลยเลือกที่จะปฏิบัติตามความเห็นดังกล่าว ด้วยการใช้สิทธิทางศาล ยื่นฟ้องคดีให้ศาลปกครองวินิจฉัย
ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดอุบลราชธานี) พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 2 ปี และปรับ 18,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 12,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาพิพากษาว่า คดีนี้เป็นคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบ ให้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เจ้าพนักงานที่จะมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะต้องกระทำโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่โจทก์คงมีแต่ตัวโจทก์เพียงปากเดียว เบิกความอ้างว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหาย โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นที่จะทำให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาเช่นนั้น
การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามมติของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองในทันที ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ ดังนี้พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน (ยกฟ้องโจทก์)