ม.อุบลฯ คว้าอันดับที่ 1 ของไทยและอาเซียน ด้านการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก้าวสู่ปีที่ 31 ด้วยความภูมิใจ จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทต่อสังคม (University Impact Ranking) โดย Time Higher Education ประจำปี 2021 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ของประเทศไทย อันดับที่ 1 ของอาเซียน อันดับ 2 ของเอเชีย และ อันดับที่ 34 ของโลก ใน SDG 11 ด้านเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Sustainable Cities and Communities) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดเผยว่าจากการที่มหาวิทยาลัยได้ส่งผลงานเชิงพื้นที่ที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมซึ่งเปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้ามาดำเนินกิจกรรมหรือศึกษาหาความรู้ ได้แก่ อุทยานศิลปวัฒนธรรมอีสานและลุ่มน้ำโขง หรือเฮือนกำนัน จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนในแถบภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำร่องก่อ มีพื้นที่ 175 ไร่ และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นมากกว่า 28 สายพันธุ์ จำนวนกว่า 30,000 ต้น และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาประมง พื้นที่เก็บรักษา อนุรักษ์ และจัดแสดงตัวอย่างสัตว์น้ำและเครื่องมือประมงในพื้นที่อีสานตอนล่างและลุ่มน้ำโขง
ในด้านการให้บริการสาธารณะ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีห้องสมุดหรือสำนักวิทยบริการ ที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถเข้ามาใช้บริการ และมีฐานข้อมูลที่เอื้อให้บุคคลภายนอกมาใช้บริการ จำนวน 26 ฐาน นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จัดนิทรรศการด้านศิลปวัฒนธรรม ที่สาธารณชนสามารถเข้าชมเพื่อศึกษาองค์ความรู้ได้ เช่น อาคารข้อมูลท้องถิ่นและจดหมายเหตุที่จัดแสดงและบริการข้อมูลวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พิพิธภัณฑ์สมุนไพร แหล่งรวบรวมข้อมูลสมุนไพรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และภูมิปัญญาท้องถิ่นทางด้านการแพทย์ และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่อยู่ภายในสำนักงานอธิการบดี อีกทั้ง ยังมีพื้นที่เปิดโล่งหรือพื้นที่สีเขียวที่ให้บริการแก่สาธารณชน ได้แก่ สวนสาธารณะหนองอีเจม พื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัย สวนสาธารณะ สนามกีฬา และป่าอนุรักษ์ต้นน้ำร่องก่อ ที่เปิดให้โรงเรียน หรือหน่วยงานต่างๆ เข้ามาขอใช้พื้นที่จัดกิจกรรมได้
ในด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานีในการจัดการแสดงขนวนพาเหรด ดนตรีไทยเดิม และร่วมแสดงผลงานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นในงานประเพณีประจำปีต่างๆ ของจังหวัด ได้แก่ งานประเพณีพิธีบวงสรวงและสดุดีพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) เจ้าเมืองคนแรก จังหวัดอุบลราชธานี งานเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ที่ได้บริจาคที่ดินพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่จังหวัดอุบลราชธานี และงานจุลกฐิน “ทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน ถิ่นคนมีธรรม” ประจำปี 2563
ในด้านการวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างผลงานการวิจัยในระดับนานาชาติที่มีคุณภาพสูง และมีโครงการที่รวบรวม อนุรักษ์ เผยแพร่และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการต่อยอดตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งก่อให้เกิดความยั่งยืน ได้แก่ โครงการฟื้นใจเมือง เขมราฐ เฟส 2 ดำเนินการที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โครงการอนุรักษ์ ปริวัตร และสืบสานใบลาน เป็นโครงการที่ดำเนินการสำรวจ รวบรวม ศึกษา จัดทำข้อมูลและปริวัตรเพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่เนื้อหาในใบลาน และ โครงการศึกษาร่องรอยอารยธรรมเขมรในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นโครงการที่มุ่งศึกษารวบรวม และจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะเขมรซึ่งเคยเป็นอารยธรรมดั้งเดิมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โครงการวิจัย เรื่อง "การเตรียมความพร้อมก่อนสังคมสูงวัย ตำบลบุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี” และ การจัดอบรมพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับโรงเรียนศรีแสงธรรมและเครือข่าย
นอกจากด้านการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานียังมีผลงานรายตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติที่ดีประกอบไปด้วย SDG 1 การแก้ไขปัญหาความยากจน (No Poverty) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คว้าอันดับที่ 3 ประเทศไทย อันดับที่ 9 ของอาเซียน และอันดับที่ 59 ของโลก และ SDG 2 การขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คว้าอันดับที่ 7 ประเทศไทย อันดับที่ 13 ของอาเซียน และอันดับที่ 88 ของโลก
ในภาพรวมของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีบทบาทเพื่อสังคมปี 2021 (University Impact Rankings 2021) นี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมุ่งมั่นที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม” โดยคว้าอันดับที่ 6 ของประเทศไทย อันดับที่ 17 ของอาเซียน และอันดับที่ 201-300 ของโลก และตั้งใจที่จะสร้างความภาคภูมิใจในการเป็น “มหาวิทยาลัยในดวงใจของชุมชน มาตรฐานสากล” เพื่อเฉลิมฉลอง 31 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต่อไป
ที่มา: https://www.timeshighereducation.com/rankings/impact/2021/overall