guideubon

 

 

ม.อุบลฯ ร่วมกับ สกว. ติดตามรายงานความก้าวหน้า 13 งานวิจัย ปี 58

สำนักงานส่งเสริมบริหารงานวิจัย บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมการนำเสนอรายงานความก้าวหน้า ประจำปีงบประมาณ 2558 ภายใต้ “โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาบทบาทของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการทำงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด” ระหว่างวันที่ 20 – 21 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุม U2 อาคารเทพรัตนศิริปภา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

สีลาภรณ์-บัวสาย-01.jpg
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย
ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
และผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม

กิตติ-สัจจาวัฒนา-01.jpg
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา
ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบสร้างสรรค์ 

การจัดประชุมการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าฯ นี้ มี ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบสร้างสรรค์ เป็นตัวแทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมรับฟังการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าในครั้งนี้ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และนำเสนอแนวทางดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมบริหารงานวิจัยฯ

อินทิรา-ซาฮีร์-01.jpg
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ซาฮีร์
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ในส่วนของงานวิจัย บริการวิชาการเป็นการทำงานเพื่อให้บรรลุตามกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ว่า ตามแผนกลยุทธ์ที่ 3. พัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยเพื่อยกระดับสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับชาติและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และแผนกลยุทธ์ที่ 4. ให้บริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในเขตอีสานใต้และภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในการขับเคลื่อนการวิจัย ABC คือการเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งในการทำงาน (AB) โดยการทำงานร่วมกัน (C) ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตัวจริง เพื่อให้ได้ข้อมูลจากการวิจัย (R) ที่จะใช้จัดการกับเรื่องสำคัญของจังหวัด เพื่อนำไปสู่การพัฒนา (D) งานวิจัยประเภทนี้จึงมีชื่อเต็มว่า “Area-Based Collaborative Research for Development”

ซึ่งเป็นการทำงานวิจัยเพื่อไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (ด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และการเมือง) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัด ที่มีหลายระดับของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่หวังผลทั้งในระยะสั่น(เพื่อตนเอง) และระยะยาว(เพื่อลูกหลาน) บนปรัชญา/ความเชื่อว่า ความเข้มแข็งที่แท้จริงต้องเกิดจากภายใน ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นผู้ทำ และสมัครใจที่จะทำงานร่วมกัน

การที่มหาวิทยาลัยเข้าร่วมทุนกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินงานเรื่องนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งปัจจุบันภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว มหาวิทยาลัยสามารถสร้างนักวิจัยที่คำนึงถึงประโยชน์ของงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ ทำให้เกิดการขยายตัวเกี่ยวกับความร่วมมือในการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ทำให้เกิดความใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยมากขึ้น

สำหรับการนำเสนอรายงานความก้าวหน้า ประจำปีงบประมาณ 2558 ครั้งนี้ มีการนำเสนอความก้าวหน้า จำนวน 13 งานวิจัย ได้แก่

1. ความร่วมมือเพื่อพัฒนาบทบาทของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีในการทำงานวิจัยเพื่อสนับสนุน การขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรำ ซำฮีร์

2. การสร้างเครือข่ายการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างมีส่วนร่วมในเส้นทางการท่องเที่ยวตามริมน้ำโขง ของจังหวัดอุบลราชธานี : ดร.ปริวรรต สมนึก

3. การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมสำหรับแหล่งท่องเที่ยวตามรอยเส้นทาง ถ่ายทำภาพยนตร์อเล็กซานเดอร์มหาราช ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี : ดร.นรา หัตถสิน

4. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์บริการ พื้นฐานของรัฐตามกฎหมาย : พ.ต.ท.กิตติวัฒน์ ฉัตรศรีโพธิ์

5. การศึกษาเพื่อพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาพอน (Cirrhinus microlepis) ในแขวงจำปาสัก : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา พยุหะ

6. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกจากการเพาะปลูกแบบใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นเป็นการเพาะปลูกแบบเกษตรปลอดภัยในเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง 11 ราย ในอำเภอเดชอุดมและอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี : ดร.สุมาลี เงยวิจิตร

7. ความชุกและอัตราการติดเชื้อปรสิตในหอยน้ำจืดในพื้นที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี : ดร.จิตติยวดี ศรีภา

8. การศึกษาความสามารถในการสะสมคาร์บอนในดินของนาข้าวอินทรีย์ในจังหวัดอุบลราชธานี : ดร.ทัศนีย์ เจียรพสุอนันต์ และ นางสาวสุพรรณิการ์ ซาเหลา (ข้อเสนอโครงการ)

9. การพัฒนาด้านความปลอดภัยและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ตีพริกของชุมชนคำเจริญสุข ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี : ดร.จรวยพร แสนทวีสุข

10. การสร้างเครือข่ายนักวิจัยชุมชนเพื่อจัดการนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี : ดร.จริยาภรณ์ อุ่นวงษ์

11. แนวทางการพัฒนาความร่วมมือในการจัดทำนโยบายอนุรักษ์และฟื้นฟูลำห้วยตองแวดใน ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี : นางสาวกิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น

12. การจัดการน้ำเสียโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เทศบาลตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี : นายสมเจตน์ ทองดำ

13. แนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพระบบผลิตน้ำประปามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีโดยการมีส่วนร่วม : นางสาวจิราภรณ์ หลาบคำ

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511