guideubon

 

 

ขยะเพิ่มมูลค่า ทำพวงหรีดรีไซเคิล สร้างรายได้ให้ชุมชน

ขยะ-พวงหรีด-รีไซเคิล-อุบล-01.jpg

ชุมชนวัดสารพัดนึก เทศบาลนครอุบลราชธานี ได้เล็งเห็นคุณค่าของขยะที่ย่อยสลายยาก โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่บรรจุน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ นำมารีไซเคิลเพิ่มมูลค่า เป็นพวงหรีดรีไซเคิล สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชน

ทุกวันเสาร์ที่สี่ของเดือน คณะกรรมการธนาคารวัสดุรีไซเคิล ชุมชนวัดสารพัดนึก จะนำรถเข็นออกรับซื้อขยะ อาทิ กระดาษ ขวดพลาสติก กล่องนม ถุงพลาสติกบรรจุน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก และขยะอื่นๆ จากชาวบ้านในชุมชนวัดสารพัดนึก เทศบาลนครอุบลราชธานี โดยชาวบ้านที่นี่ ทุกครัวเรือนต่างตระหนักถึงการจัดการขยะในชุมชน ด้วยการคัดแยกขยะในครัวเรือน ประกอบด้วย ขยะแห้ง ขยะเปียก ขยะทั่วไป ขยะอันตราย และ ขยะรีไซเคิล เพื่อเป็นการลดภาระการเก็บขยะ ของเทศบาลนครอุบลราชธานี อีกทางหนึ่งด้วย

ขยะ-พวงหรีด-รีไซเคิล-อุบล-02.jpg

จากนั้น คณะกรรมการธนาคารวัสดุรีไซเคิล ชุมชนวัดสารพัดนึก จะนำขยะที่ได้รับซื้อจากชุมชน มาที่ ที่ทำการธนาคารวัสดุรีไซเคิลชุมชนวัดสารพัดนึก ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดสารพัดนึก ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อปฏิบัติการคัดแยกขยะออกเป็นหมวดหมู่ แล้วส่งขายต่อให้กับโรงงานรับซื้อของเก่า ส่วนขยะที่ไม่สามารถนำไปขายต่อได้นั้น อาทิ กล่องนม ถุงพลาสติกบรรจุน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก และ ขยะที่ย่อยสลายได้ยาก ทางสมาชิกจะนำมาล้างทำความสะอาดเพื่อทำเป็น ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลต่างๆ ออกจำหน่ายตามออเดอร์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิก

นางโกสุม รูปช้าง เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ธนาคารวัสดุรีไซเคิล ชุมชนวัดสารพัดนึก เปิดเผยว่า ในวันนี้ มีออเดอร์ การสั่งทำพวงหรีดรีไซเคิล สมาชิกฯก็ได้มารวมกลุ่มกัน นำถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม และพลาสติกอ่อนห่อผลไม้ มาตัดตกแต่งให้เป็นรูปดอกไม้ น้อยใหญ่ เพื่อประดับบนพวงหรีด โดยพวงหรีดแต่ละอัน ใช้งบประมาณในการทำ ประมาณ 100-200 บาท ส่งขายต่อให้กับลูกค้า อันละ 500-1,000 บาท ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าที่สนใจ มาสั่งซื้อพวงหรีดรีไซเคิลสำหรับไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับกันอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ก็มีร้านจำหน่ายพวงหรีด และร้านจำหน่ายโลงศพ มาติดต่อและสั่งซื้อเพื่อนำไปขายต่อหน้าร้านแล้ว

ขยะ-พวงหรีด-รีไซเคิล-อุบล-03.jpg

นางโกสุมฯ ยังกล่าวอีกว่า นอกจาก พวงหรีดรีไซเคิล แล้ว ทางกลุ่มยังได้มีการจัดทำ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จากขยะ และ เศษวัสดุเหลือใช้ภายในครัวเรือน หลากหลายรูปแบบ อาทิ เช่น ผ้ากันเปื้อน กระเป๋าชุดเสื้อผ้า จากถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม / กล่องทิชชู่และหมวก จากกล่องนม / ดอกไม้ประดิษฐ์จากกระดาษหนังสือพิมพ์ / ตระกร้าใส่ของจากกระป๋องน้ำอัดลม/ กล่องเอนกประสงค์จากล็อตเตอรรี่เก่า เป็นต้น

สำหรับผลกำไรจากการดำเนินงานธนาคารขยะฯ จะนำมาจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือคนเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตภายในชุมชน และ เป็นเงินปันผลแจกจ่ายให้กับสมาชิกปีละ 1 ครั้งอีกด้วย ซึ่งนอกจากสมาชิกจะได้รับสวัสดิการจากธนาคารขยะแล้ว ยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่เกิดภาวะตึงเครียด เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ เป็นแม่บ้านและผู้สูงอายุ

ขยะ-พวงหรีด-รีไซเคิล-อุบล-04.jpg

ปัจจุบัน ธนาคารวัสดุรีไซเคิล ชุมชนวัดสารพัดนึก เป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะในชุมชน มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ เดินทางมาศึกษาดูงาน นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งระดับ อำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศหลายรางวัล อาทิ รางวัล รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามโครงการจัดตั้งธนาคารวัสดุรีไซเคิลชุมชน 400 ชุมชน จากสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ เข้ารอบที่ 1 ตามโครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ (zero waste) เฉลิมพระเกียรติ 88 พรรษา 88 ชุมชน ปี 2558จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นต้น

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511