ม.อุบลฯ โชว์นวัตกรรม เครื่องดำนาแบบมือถือ
แม้ว่าสภาวะในปัจจุบันหลายพื้นที่ของประเทศกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีนโยบายในการรณรงค์ประหยัดทรัพยากรน้ำ พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทุกพื้นที่ การคิดค้นนวัตกรรม จึงเป็นอีกแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูกาลทำนาในแต่ละปี
วันที่ 1 มีนาคม 2559 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คิดค้นนวัตกรรม เครื่องดำนาแบบมือถือ ตอบโจทย์เกษตรกร เตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลทำนา ช่วยลดต้นทุนการผลิต สะดวกปลอดภัยใช้งานง่าย เสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่ชีวิต ต้นทุนไม่เกิน 1 พันบาท ผลงานเด่นของอาจารย์รัฐพงศ์ ปฏิกานัง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อาจารย์รัฐพงศ์ ปฏิกานัง กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรหันมาใช้วิธีการทำนาหว่านแทนการดำกันมากขึ้น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ระยะเวลา ซึ่งผลผลิตที่ได้จะน้อยกว่าการทำนาดำ ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ต่อคน ต่อวัน และปัญหาอีกอย่างคือ เรื่องของสภาพร่างกาย เพราะการดำนาต้องก้ม และใช้นิ้วปักต้นกล้าลงในดิน ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ปวดหลัง เจ็บนิ้ว ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้คิดค้นออกแบบและสร้างอุปกรณ์เครื่องดำนาแบบมือถือ เกษตรกรสามารถทำนาด้วยวิธีการดำ เพิ่มผลผลิตสูง โดยไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน และสภาพร่างกาย
เครื่องดำนาแบบมือถือ เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีที่นาไม่มากนัก มีการใช้งานง่าย โดยนำต้นกล้าที่เตรียมส่งผ่านท่อลำเลียง ออกแรงกดปักดำในที่นาที่เตรียม เหมือนกับการปักดำนาทั่วไป ความโดดเด่นนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่าย ยังเป็นการทำนาแบบรักสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องจ้างแรงงาน ไม่พึ่งพาเครื่องจักร ไม่ก่อมลพิษ เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดีอีกทางหนึ่งด้วยอาจารย์รัฐพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ได้นำมาแสดงในงาน มหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรม 2016 หรือ UBU Research and Innovations Expo (RISE2016) เมื่อวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กำลังดำเนินระหว่างการขอรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (อนุสิทธิบัตร) ต่อไป
สอบถามเพิ่มเติมที่ หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลับอุบลราชธานี โทร.045 433456