guideubon

 

 

บัณฑิตนิติศาสตร์ ม.อุบลฯ ละทางโลก มุ่งสู่ความสำเร็จทางธรรม

พระตะวัน-ตปคุโณ-01.jpg

ชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำและก้าวเดินสู่ความสำเร็จได้ นายตะวัน พิมพ์ทอง บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ (คันชั่ง6) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้มีผลงานโดดเด่นด้านการกล่าวสุนทรพจน์ ผลงานรางวัลชนะเลิศ เป็นตัวแทนของนิสิตนักศึกษา เข้าถวายงานผ่านภาษาในเวทีระดับชาติภายหลังจากจบการศึกษา ได้ค้นพบตัวเองพร้อมเปลี่ยนเส้นทางเดินชีวิตจากปุถุชนคนธรรมดา สู่การศึกษาเส้นทางสายพระธรรม หวังเดินตามรอยธรรมของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีโยมพ่อโยมแม่ร่วมอนุโมทนาบุญ พร้อมก้าวเดินสู่สายธรรมกับบุตรชายในบั้นปลายชีวิต

พระตะวัน-ตปคุโณ-02.jpg

นายตะวัน พิมพ์ทอง บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายหลังจากหันหลังให้ชีวิตการเป็นฆราวาสสู่การอุปสมบท ซึ่งมีฉายา พระตะวัน ตปคุโณ(พิมพ์ทอง) อายุ25ปีพรรษา3 ภูมิลำเนาเป็นชาวอ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เป็นบุตรชายคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 2 คน ของ คุณพ่อศรานนท์ คุณแม่ราตรี พิมพ์ทอง สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ ม.อุบลฯ เมื่อปีการศึกษา2555 ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในระดับ ป.โท พุทธศาสตรมหาบัณฑิต ชั้นปีที่ 2คณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, เป็นผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรแผนกธรรม นักธรรมชั้นตรีและนักธรรมชั้นโท พร้อมกับกำลังศึกษาเปรียญธรรมหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลี, เป็นผู้สอบไล่ได้ตามหลักสูตรสมาธิชั้นสูง ในพระเดชพระคุณพระธรรมมงคลญาณ(วิ.) (หลวงปู่วิริยังค์ สิรินฺธโร) อายุ 96 ปี พรรษา76 ลูกศิษย์ผู้รับมรดกธรรมแห่งองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นปราชญ์พระวิปัสสนาจารย์แห่งยุคในด้านวิปัสนากรรมฐาน

พระตะวัน-ตปคุโณ-03.jpg

พระตะวัน ตปคุโณ กล่าวว่า อาตมาเริ่มใช้ชีวิตในรั้วมหาลัยอุบลราชธานี ศึกษาในคณะนิติศาสตร์ ปีการศึกษา2552 ประสบการณ์และผลงานในปีเดียวกัน ได้เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นตัวแทนของสถาบัน เข้าทำการแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ระดับอุดมศึกษา จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์ฯร่วมกับ ม.ขอนแก่น ได้รับรางวัลชนะเลิศ

พระตะวัน-ตปคุโณ-04.jpg

เป็นตัวแทนของนิสิตนักศึกษากว่า 10 สถาบันเข้าถวายงานผ่านภาษาในเวทีระดับชาติ ภายใต้หัวข้อหลักที่ว่า “ตามรอยพระยุคลบาทช่วยชาติได้อย่างไร” และเป็นตัวแทน 1 ใน 5 ของนักศึกษาทั่วภูมิภาคเข้าทำการกล่าวสุนทรพจน์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ บนเวทีระดับชาติ ณ หอประชุมจุฬาฯ ได้ถึง 4 ปีซ้อน

พระตะวัน-ตปคุโณ-05.jpg

ตลอดอายุของการศึกษาในรั้วมหาลัย จึงได้รับรางวัลพิเศษพอใจ ชัยเวฬุ ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติในการที่นักศึกษาคนหนึ่ง สามารถเป็นตัวแทนของนักศึกษาทั่วภูมิภาคขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีระดับชาติได้ถึง 3 ปีซ้อน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยและคณะ ยังได้มอบประกาศเกียรติคุณ ในฐานะนักศึกษาที่สร้างชื่อเสียงและคุณประโยชน์ให้กับทางสถาบันอย่างต่อเนื่องด้วย

เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้เลือกตัดสินใจเดินบนเส้นทางสายพระธรรม ด้วยเข้ารับการอุปสมบทตามความใฝ่ฝันว่า อยากจะเดินตามรอยธรรมของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่ออุปสมบทแล้วจึงไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ในสำนักปฏิบัติของพระอาจารย์จรัน อนังคโน ผู้ถือข้อธุดงควัตรอันเคร่งครัดตามพระธรรมวินัยแห่งสำนักสงฆ์อุทยานธรรมดงยาง จ.ศรีสะเกษ

พระตะวัน-ตปคุโณ-06.jpg

หลังจากนั้นก่อนเข้าพรรษา ได้ออกเดินจาริกธุดงค์เพื่อฝึกฝนตนเอง ด้วยการถือข้อธุดงควัตรตามป่าเขาลำเนาไพร ร่วมกับหมู่คณะครูบาอาจารย์ เป็นเวลาหลายเดือน โดยเริ่มต้นของการจาริกธุดงค์จากสำนักสงฆ์อุทยานธรรมดงยาง จ.ศรีสะเกษ ข้ามไปฝั่งแขวงสะหวันเขตประเทศลาว และกลับข้ามมาจำพรรษาที่ฝั่งไทย หลังจากออกพรรษา จึงเริ่มต้นจาริกธุดงค์อีกครั้ง จากสวนโมกขพลารามแห่งหลวงปู่พุทธทาส จ.สุราษฏ์ธานี สิ้นสุดที่วัดวังวิเวการามแห่งหลวงปู่อุตตมะ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และเริ่มจาริกธุดงค์อีกครั้ง จากพระธาตุดอยตุง สู่ภูเขาตุงควารีศรีวราลัย แห่งวัดไตรสิกขาทลามลตาราม อ.คำตากล้า จ.สกลนคร เพื่อเข้ารับโอวาทธรรมจากพ่อแม่ครูอาจารย์ พระอาจารย์ใหญ่สมภพ โชติปัญโญ ผู้ได้รับการยกย่องยอมในหมู่พระนักปฏิบัติทั้งหลาย และจากพุทธศาสนิกชนว่า เป็นพระนักปราชญ์แท้แห่งเถรวาทไทย

พระตะวัน-ตปคุโณ-07.jpg

หลังจากนั้น จึงได้เดินทางออกปฏิบัติยังสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ อาทิ สายวัดหนองป่าพง กับหลวงปู่เหลื่อม อนุตตโร แห่งวัดป่าหมากมาย อ.เดชอุดม จ.อุบลฯ ซึ่งถือเป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของหลวงปู่ชา สุภัทโท ได้ระยะหนึ่ง จึงออกไปปฏิบัติยังสำนักครูบาอาจารย์ตามวัดป่าต่างๆ โดยได้ไปพักจำพำนักในสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งบนภูแลนคา ผามอหินขาว จ.ชัยภูมิ และสำนักสงฆ์ป่าเหล่าหลวงอุดมธรรม จ.ร้อยเอ็ด

ปัจจุบัน ได้เข้ารับการฝึกสมาธิในหลักสูตรสมาธิชั้นสูง ของพระเดชพระคุณพระธรรมมงคลญาณ (วิ.)(หลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร) แห่งสำนักวัดศรีรัตนธรรมาราม จ.สมุทรปราการ อีกทั้งยังสนใจเข้ารับการฝึกวิปัสสนากรรมฐานตามแบบสายพม่า ในรูปแบบของพระมหาสีสะยาดอ แห่งสำนักวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กทม.

พระตะวัน-ตปคุโณ-08.jpg

การตัดสินใจบวชของอาตมา นอกจากจะได้รับการอนุโมทนายินดีอย่างยิ่ง จากโยมพ่อโยมแม่ ซึ่งท่านทั้งสองมีความตั้งใจว่า อยากจะปวารณาบุตรชายคนเดียว คือ ตัวอาตมาให้อยู่เป็นกำลังในการทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา เพื่ออนาคตท่านทั้งสอง จะได้พยายามปลดเปลื้องภาระความมีหน้าที่ในทางฆราวาส สู่ความเป็นธรรมทายาทของพระศาสนา ด้วยการบวชตาม อีกทั้งอาตมายังอาศัยมูลเหตุแห่งความรักที่มีต่อพระศาสนา มีความศรัทธาในหลักธรรมคำสอนแห่งองค์พระบรมศาสดา และยังความเลื่อมใสเคารพบูชาในปฏิปทาการปฏิบัติของพ่อแม่ครูอาจารย์ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รวมถึงการตระหนักรู้ในสัจธรรมชีวิตว่า “ชีวิตนี้เป็นของไม่เที่ยงแต่ความตายเป็นของเที่ยง ชีวิตเป็นของไม่แน่นอนแต่ความตายเป็นสิ่งแน่นอน และหลักสำคัญคือ ชีวิตเป็นของมีน้อย เหมือนแม่น้ำที่ไหลบ่อยๆ ย่อมหมดสิ้นไป เมื่อสุดท้ายปลายทางมาถึงจุดแตกดับ รอเวลากลับคืนสู่ธรรมชาติ เราทุกคนจะต้องแก่, ต้องเจ็บและต้องตาย

ดังนั้น สำคัญหากเราตระหนักได้อย่างนี้ เราจะเป็นผู้เพียรลด ละ เลิกความอยากในทางที่ก่อทุกข์ให้โทษอย่างที่โลกเพียรแสวงหากัน เราจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาทหลงไหลมัวเมาหรือเพลิดเพลินไปกับชีวิตช่วงวัยสังขารที่นับวันแต่เปลี่ยนแปลงแสดงตัวให้เราเห็นถึงสภาพอันจริงแท้ เราจะเป็นผู้เพียรสร้างหนทางของชีวิตสู่ความเจริญหันมาใช้ชีวิตเชิงคุณภาพชนิดที่มีความสุขเป็นกำไร เราจะไม่กล้าทำทุกๆ วินาทีของชีวิตให้สิ้นเปลืองไปเปล่าโดยที่ไม่เลือกทำคุณค่าอันสูงสุดให้กับตนเอง”

หนทางสู่ศาสนาได้ห่มผ้ากาสาวะ อันเป็นที่เคารพบูชาของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จึงเป็นหนทางอันเลิศในการที่เราจะฝึกฝนตนเอง ให้เป็นผู้ที่มองเห็นภัย แล้วสามารถเข้าไปสัมผัสถึงความสงบเย็นอย่างที่เงินก็หาซื้อไม่ได้

พระตะวัน-ตปคุโณ-09.jpg

ดังนั้นอาตมาจึงอยากจะฝากถึงทุกท่าน ให้ลองถามแล้วตอบใจตัวเองว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม,เกิดมาแล้วจะเอาอะไร แล้วสุดท้ายปลายทางเมื่อความตายมาถึง ชีวิตจะเหลืออะไร สำหรับอาตมาผู้รักศาสนาและรักษาธรรมอยู่เต็มหัวใจ ชีวิตของอาตมาจึงไม่ใช่เกิดมากินเกิดมาเล่นหรือมากอบโกยเอาเกียรติยศชื่อเสียงเงินทองและไม่คิดจะแบ่งสันปันส่วนเอามาเป็นสมบัติส่วนตนจนเกินพอดี แต่สิ่งที่อาตมาเพียรแสวงหาสะสมนั้นคือบุญกุศลที่จะนำไปเป็นสัมภาระธรรมอันเป็นอุปกรณ์เครื่องปรุงแต่งวิโมกข์ เพื่อที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป แล้วนำพาจิตใจให้เข้าถึงที่สุดแห่งธรรม

ในการนี้ อาตมาจึงต้องขอบพระคุณมายังมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะนิติศาสตร์ เหล่าคณาจารย์เพื่อนพ้องน้องพี่ทุกท่าน ที่ได้มอบโอกาสทางการศึกษาและไมตรีจิตมิตรภาพ คอยอบรมสั่งสอนวิชาการความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตตลอด 4 ปี ขอบพระคุณที่ได้ให้พื้นที่ศิษย์เก่าคนนี้แม้จะมิได้ประกอบสัมมาวิชาชีพในสายวิชาการที่รับมา แต่ก็ยังได้มีน้ำใจอุตส่าห์ให้ทำหน้าที่ในฐานะศิษย์เก่าได้บอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตบนเส้นทางสายพุทธธรรม สำคัญแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยว่าไม่เพียงแต่ส่งเสริมสนับสนุนในด้านคุณภาพวิชาการที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แต่ยังคงเล็งเห็นถึงความสำคัญของศีลธรรมจรรยาที่จะช่วยนำพาและควบคุมบัณฑิต ให้เป็นผู้ที่สามารถนำเอาหลักวิชาการไปรับใช้ ไปช่วยเหลือ และไปพัฒนาสังคมเพื่อให้เกิดความเจริญที่ยั่งยืน พระตะวัน กล่าว

เพลิน วิชัยวงศ์ ปชส. ม.อุบลฯ /ข่าว

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511