ชาวอุบลฯ ร่วมปฏิบัติธรรมเฉลิมฉลอง 150 ปี ชาตกาล 'พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
วันที่ 20 มกราคม 2563 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดโครงการกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี ชาตกาล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เนื่องในโอกาสได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ ณ วัดเลียบ อ.เมือง อุบลราชธานี
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระเถรานุเถระสายวิปัสสนากรรมฐาน ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยให้ความเคารพนับถือ และได้รับการกล่าวถึง ทั้งในขณะที่ยังมีชีวิตดำรงอยู่ และละสังขารขันธ์ไปแล้ว ด้วยการเป็นผู้นำกองทัพธรรม เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา และพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปยังพุทธศาสนิกชนชาวไทย อันยังผลให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงศาสนา ในทางที่ถูกต้องดีงาม
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยเจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศวัทธาทั้งหลายว่า เป็นพระผู้เป็นเลิศทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า ให้แก่สมณะ ประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก
แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลงในปี พ.ศ.2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิบัติทาธรรมปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปูมั่น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า หรือ พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่าสืบมาจนปัจจุบัน
หลักคำสอนของท่าน ได้ชี้แนะวิธีบำบัดทุกข์ ด้วยการลดละความโลภ ความโกรธ และความหลงออกจากใจตน แนะนำเข้าถึงความสงบ ด้วยการเจริญสมาธิ ส่งผลให้ผู้คนหันมาสนใจศึกษาแนวทางที่ท่านได้วางหลักไว้ จนปรากฏผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และแผ่ขยายในวงกว้าง จากระดับประเทศสู่ภูมิภาคจนถึงสังคมโลก
เนื่องในโอกาสที่ยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ โดยมีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปี ชาตกาล ในวันที่ 20 มกราคม 2563
ในโอกาสอันเป็นมงคล วันที่ 20 มกราคม 2563 เป็นวาระครบรอบ 150 ปีชาตกาลของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระเถระที่ชนชาวไทยให้ความเคารพ และยึดถือข้อธรรมที่ท่านได้ปฏิบัติมาเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา จึงได้ร่วมกับภาคคณะสงฆ์ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาคราชการ ภาคเอกชน และคณะศิษยานุศิษย์ จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงพระคุณของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เพื่อเป็นการเผยแผ่คุณงามความดี และวัตรปฏิบัติอันงดงาม ให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชน อันจะส่งผลให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ
วัดเลียบ เป็นวัดหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีความเเกี่ยวข้องกับพระสงฆฺ 2 รูป ที่เป็นต้นธารแห่งสายพระกัมมัฏฐาน คือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต กล่าวคือ เมื่อหลวงปู่มั่นได้อุปสมบทแล้ว จึงมาศึกษาวิปัสนาธุระกับหลวงปู่เสาร์ที่วัดแห่งนี้
วัดเลียบ อุบลราชธานี เดิมเป็นสำนักสงฆ์สายวิปัสนา สร้างเมื่อ พ.ศ.2391 ตรงกับปลายรัชกาลที่ 3 ชื่อของวัดเลียบ น่าจะมาจากการที่เป็นวัดที่สร้างขึ้นเลียบคูเมือง ในแนวกั้นแม่น้ำมูล ซึ่งต่อมาคือถนนเขื่อนธานีนั่นเอง สำนักสงฆฺแห่งนี้ มีอายุได้ 44 ปี มีเจ้าอาวาสปกครองมา 10 รูป จนถึงยุคท่านพระอาจารย์ทิพย์เสนา ทิพฺพเสโน (แท่นทิพย์) ได้มรณะภาพ ก็ไม่มีพระสงฆ์รูปใดครองสำนักสงฆ์แห่งนี้เป็นเวลาร่วมสิบปี
ต่อมาหลวงปู่เสาร์ กนฺสีโล ได้มาบุกเบิกสร้างวัดเลียบและเป็นเจ้าอาวาส ตรงกับปี พ.ศ.2435 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานเป็นวิสุงคามสีมาตามพระราชโองการที่ 87/303 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 เป็นวัดฝ่ายธรรมยุตที่สืบทอดเจตนารมณ์ของหลวงปู่เสาร์ กนฺสีโล ต้นธารแห่งสายพระกัมมัฏฐานองค์สำคัญสืบต่อมาตราบจนกระทั่งปัจจุบัน
นับจากพระครูวิเวกพุทธกิจ หรือหลวงปู่เสาร์ กนฺสีโล เป็นเจ้าอาวาสระหว่างปี พ.ศ.2435-2445 (10 ปี) จนถึงปัจจุบัน วัดเลียบมีเจ้าอาวาสมาแล้ว 8 รูป เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันคือ พระครูอุบลคณาภรณ์ (วีระชัย อริญฺชโย บุตราช) พ.ศ.2542-ปัจจุบัน