สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิต
วันที่ 18 พฤษภาคม 2559 เวลา 13.00 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 ประกาศเกียรติคุณ และเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้ง และ 108 ครั้ง ประจำปี 2557-2558 ของเหล่ากาชาดจังหวัดภาค 7 จำนวนทั้งสิ้น 347 ราย โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษจอมจิน จันทรสกุล นายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการเฝ้ารับเสด็จ ทั้งนี้ เพื่อแสดงความขอบคุณ และยกย่องเชิดชูเกียรติผู้สนับสนุนการบริจาคโลหิต โดยเฉพาะผู้บริจาคโลหิต ซึ่งเป็นผู้มีจิตศรัทธาสละโลหิตในร่างกายของตนเอง เพื่อช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ผู้เจ็บป่วยโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ในการนี้ มีผู้เข้ารับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 ประกาศเกียรติคุณ และเข็มที่ระลึก ผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้ง และ 108 ครั้ง ประจำปี 2557-2558 ของจังหวัดในเหล่ากาชาดจังหวัดภาค 7 ได้แก่ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด และอำนาจเจริญ รวม 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัส แก่ผู้เข้ารับพระราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตฯ และทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับผู้บริหารสภากาชาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภาค 7 กรรมการกาชาดจังหวัดอุบลราชธานี และข้าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 3 ชุด ตามลำดับ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่สภากาชาดไทย ได้เริ่มงานบริการโลหิตเมื่อปีพุทธศักราช 2495 มีภารกิจหลักในการจัดหาโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ มีคุณภาพปลอดภัยสูงสุดสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีเป้าหมายการจัดหาโลหิตทั่วประเทศ ปีละ 2,046,000 ยูนิต โดยมี ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ดำเนินการจัดหาโลหิตในส่วนกลาง คือกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ให้ได้ปีละ 696,000 ยูนิต ส่วนภูมิภาค ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ สาขาบริการโลหิตโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ ต้องจัดหาโลหิตให้ได้ ปีละ 1,350,000 ยูนิต ถึงแม้ว่าแต่ละปี มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโลหิตเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันยังมีความต้องการโลหิตเพิ่มมากขึ้นปีละ 8 - 10% จึงต้องมีการรณรงค์ให้มีการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน หรือ ปีละ 4 ครั้ง เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้มีปริมาณที่โลหิตเพียงพอสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ