guideubon

 

 

ลูกพิการแต่กำเนิด ต้องเลี้ยงในกรงนาน 15 ปี พ่อตกงาน ขอความช่วยเหลือ

ลูกพิการ-เลี้ยงในกรง15ปี-01.jpg

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาค 2565 นายชูศักดิ์ สุทธิรารักษ์ สมาชิก อบจ.เขต 1 อ.เขมราฐ อุบลราชธานี พร้อมด้วย นายสุรัตน์ จันทสาร กำนันตำบลเขมราฐ และ ผู้ใหญ่บ้านเตาถ่าน ม.15 , ผู้ใหญ่บ้านแสนสุข ม.22 ตำบลเขมราฐ อ.เขมราฐ ได้เข้าเยี่ยมครอบครัวของ นายชัยราช เหล่าลี อายุ 48 ปี ที่บ้านเลขที่ 19/1 ซอย5 บ้านแสนสุข ม.22 ต.เขมราฐ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านไม้ยกถุนสูงสภาพเก่า มีบุตรสาวพิการทางสมองร้องครางเป็นระยะอยู่ในกรงเหล็ก สภาพนั่งแต่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องอยู่ในกรงขังตลอด

สอบถาม นายชัยราช เหล่าลี อายุ 48 ปี เล่าว่า ตนมีภรรยา 1 คน ปัจจุบันอายุ 51 ปี มีลูก 3 คน คนโตมีครอบครัวแล้ว คนเล็กกำลังเรียนชั้น ป.4 ส่วนน้องนุ่น เป็นลูกคนที่สอง มีอาการพิการทางสมองมาตั้งแต่กำเนิด พูดไม่ได้แต่ร้องได้ ต้องดูแลประคบประหงมมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน น้องมีอายุ 15 ปี

ลูกพิการ-เลี้ยงในกรง15ปี-02.jpg

นายชัยราช กล่าวว่า สาเหตุที่น้องนุ่นมีสภาพเป็นเช่นนี้ ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่หมอแจ้งว่าน่าจะเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พอคลอดออกมาก็พิการสมอง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ พอโตมาหน่อยคืบคลานไปเองได้บ้าง ก็เจอปัญหาบาดเจ็บแต่ไม่มากนัก ทางตนและภรรยาจึงตัดสินใจ ทำกรงไม้ไว้ให้อยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ และต้องพาน้องเข้ารับการรักษาเข้าออกโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ในตัวเมืองอุบลฯ ทุก 2-3 เดือนตั้งแต่เกิด โดยต้องรับการรักษาจากหมอและรับยา จนกระทั่งเมื่อประมาณ 7-8 ปีให้หลังมานี้ หมอหมดหนทางรักษา ให้หยุดรับยา และไม่ต้องไปพบแพทย์อีก ทางตนและภรรยาจึงต้องดูแลน้องนุ่นตามยถากรรม

น้องนุ่น ได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ ของคุณพุ่ม มอบเงินให้ปีละ 5,000 บาท แต่ให้แบบปีเว้นปี ไม่ได้ให้ทุกปี และเงินช่วยเหลือผู้พิการ เดือนละ 800 บาท จากรัฐบาล ส่วนตนมีที่นา 4 ไร่ ก็ได้ทำกินในครอบครัว อาชีพเพื่อหารายได้คือรับจ้างทั่วไป โดยมากรับจ้างแบกหามของขึ้นลงที่ท่าเรือเขมราฐ ส่วนภรรยาไม่มีงานทำอาศัยตนทำงานเลี้ยงดูครอบครัวเพียงคนเดียว

ลูกพิการ-เลี้ยงในกรง15ปี-03.jpg

นายชัยราช กล่าวว่า ในช่วงที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 สินค้าที่ข้ามไปมาในบริเวณท่าเรือเขมราฐไม่มีให้ขนอีกต่อไป เพราะไทย-ลาวหยุดชะงักด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน เนื่องจากสถานการณ์โควิดระบาด ทำให้รายได้ที่เคยมีวันละ 300-400 บาท ในวันที่ได้แบกหามก็พาลหมดลงด้วย ทำให้ความอัตคัดในครอบครัวมีมากขึ้น

ปัจจุบัน ตนต้องหารับจ้างอย่างอื่นเพื่อให้พอมีรายได้ใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งบางวันไม่มีงานทำก็ไม่มีเงินใช้จ่าย เดือนหนึ่งๆ ทำงานประมาณ 10 กว่าวัน เพราะไม่มีงาน ก็ยิ่งทำให้รายได้ไม่พอใช้จ่ายในครอบครัวมากขึ้น

การดูแลน้องนุ่น ที่เมื่อก่อนให้ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพราะน้องไม่สามารถบอกได้ว่า จะขับถ่ายเวลาไหน ปัจจุบันก็ไม่สามารถหาเงินเพื่อซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปให้น้องได้ จึงต้องปล่อยตามยถากรรม ส่วนกรงที่ใช้ขังน้องไว้ไม่ให้ไปไหนได้ และป้องกันการบาดเจ็บของน้อง เพิ่งมาเปลี่ยนใหม่โดยทำเป็นแบบเหล็กเมื่อเร็วๆ นี้เนื่องจากกรงเดิมผุพังเพราะทำจากไม้ ชาวบ้านเห็นแล้วเวทนา ผู้ใหญ่บ้าน และ สจ.ในพื้นที่จึงระดมทุนช่วยกันเพื่อทำกรงขังใหม่ให้

นายชัยราช กล่าวว่า เรื่องการกินอยู่ของน้อง ในช่วงกลางวันน้อง จะอยู่ในกรงใต้ถุนบ้าน แต่พอกลางคืนจะนำไปนอนบนตัวบ้านกับพ่อแม่ และระยะหลังมา น้องมีอาการเกร็งร่างกายบ่อยครั้ง ทุกครั้งที่เป็นต้องกอดไว้แน่นๆ จนกว่าจะหายเกร็ง เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายหดตัวมากจนเกินไป ส่วนอาหารน้องต้องกินข้าวจ้าว หรือข้าวต้มเพราะมีปัญหาด้านการย่อย หากกินอาหารแข็งจะมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ อาหารที่ให้กินจึงมักเป็น ข้าวสวย และข้าวต้ม ส่วนกับข้าวก็ตามมีตามเกิด

ซึ่งหากมีผู้ใจบุญเวทนาเป็นอยู่ของน้อง อยากช่วยเหลือ สิ่งที่ต้องการมากคือ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพื่อป้องกันไม่ให้น้องขับถ่ายเลอะเทอะ เพราะเมื่อก่อนจะใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปวันละ 3-4 ชิ้น แต่พอตนหารายได้ไม่พอก็ต้องหยุดใช้ไปโดยปริยาย นอกจากนี้ อาหารและเครื่องดื่มที่ต้องการคือ อาหารและเครื่องดื่มประเภทย่อยง่ายให้พลังงาน เช่น พวกโอวันติน

หรือสามารถบริจาคเงินช่วยเหลือน้องได้ที่
บัญชี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
เลขบัญชี 020-157-51964-2
ชื่อบัญชี ด.ญ.วรญา เหล่าลี

ซึ่งบัญชีธนาคารข้างต้น ใช้เป็นบัญชีเพื่อรับเงินที่โอนช่วยเหลือผู้พิการจากรัฐบาล ส่วนเบอร์โทรศัพท์ตนที่ติดต่อได้ คือ 084-4164494 ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยบอกรับบริจาคเช่นนี้มาก่อน นายชัยราช กล่าว

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511