พิธีสมโภช ‘บุญมหากฐิน ถิ่นนักปราชญ์’ ปีที่ 16 จ.อุบลราชธานี
วันที่ 16 ตุลาคม 2563 นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานงานสมโภชองค์มหากฐิน ถิ่นนักปราชญ์ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2563 จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งนายสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีต รมช.กระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ อาทิ นายจรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ , นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ , นายสมชาย คุรุจิตโกศล , นายสมหวัง ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ , นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ , และบิดา ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) พร้อมญาติธรรม ร่วมกันจัดขึ้นซึ่งทำการสวดสมโภชที่บ้าน ส.เขมราฐ ต.ไร่น้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยมีเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งฝ่ายธรรมยุติ และมหานิกาย พร้อมเจ้าอาวาสวัดสำคัญใน จ.อุบลฯ ร่วมเจริญพระพุทธมนต์รวม 9 รูป และมีนักการเมืองคนสำคัญในพื้นที่ อาทิ นายสุพล ฟองงาม , นายธนสิทธิ์ โควสุรัตน์ และนักธุรกิจท้องถิ่น และข้าราชการร่วมงานสมโภชจำนวนมาก
โดยการจัดงานบุญมหากฐิน ถิ่นนักปราชญ์ ในปีนี้ ถือเป็นการจัดติดต่อกันเป็นปีที่ 16 ซึ่งดำเนินมานับตั้งแต่ปี 2548 โดยในขณะนั้น นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการทอดกฐินในวัดที่ไม่มีผู้ปักจองกฐิน หรือที่เรียกว่า กฐินหลง เพื่อนำองค์กฐินไปทอดถวายยังวัดต่าง ๆ ทุกวัดใน จ.อุบลราชธานี ที่ไม่มีผู้ปักจอง อันเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาใน จ.อุบลฯ ให้รุ่งเรือง
เนื่องจาก จ.อุบลฯ เป็นหัวเมืองใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ของผู้คนในสมัยก่อนจนได้ขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เมืองนักปราชญ์’ จึงทำให้เป็นจังหวัดลำดับต้นๆ ของประเทศที่มีวัดวาอารามกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้การปักจองกฐินไม่ทั่วถึงทุกวัด งานบุญมหากฐิน ถิ่นนักปราชญ์ จึงได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บัดนั้น โดยแรกเริ่มมีการทอดกฐินมากกว่า 800 วัด จนต่อมาส่งผลให้ประชาชนตื่นตัวในการปักจองกฐินในวัดต่าง ๆ กันมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการทำบุญทอดกฐิน ซึ่งเป็นบุญใหญ่ แต่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก จึงทำให้ประชาชนหันมาจองวัดเพื่อทอดกฐินกันมากขึ้น
จนกระทั่งประมาณปี 2554 เป็นต้นมา นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ จึงได้นำกิจกรรมประเพณี บุญมหากฐิน ถิ่นนักปราชญ์ มาจัดทำและสืบสานต่อมาร่วมกับคณะนักธุรกิจและญาติธรรมผู้ศรัทธาดำเนินการมาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
โดยระยะแรกที่ นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ พร้อมคณะ นำงาน บุญมหากฐินถิ่นนักปราชญ์ มาดำเนินการต่อตั้งแต่ปี 2554 ได้มีการทอดกฐินที่ยังไม่มีผู้ปักจองเป็นจำนวนปีละ 400 วัด , 300 วัด , 200 วัด , 100 วัด เรื่อยมาจนกระทั่งระยะหลังมีการทอดถวายกฐิน ต่ำกว่า 100 วัดต่อปี โดยแต่ละวัดที่ทำการทอดถวายคณะเจ้าภาพที่ได้ร่วมกันจัดทำ ได้ถวายเครื่องกฐิน พร้อมเครื่องอัฐบริขาร และเงินทอดเพื่อทำนุบำรุงวัด ตั้งแต่วัดละ 30,000-40,000 บาท ถึงวัดละ 200,000 บาท
โดยเมื่อปี 2562 ซึ่งมีการทอดกฐินยังวัดต่าง ๆ ใน จ.อุบลฯ รวม 36 วัด มีการทอดถวายเงินวัดละตั้งแต่ 100,000 บาท ขึ้นไป ส่วนปี 2563 มีการทอดถวายกฐินทั้งสิ้น 18 วัด กระจายในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี อันเป็นการสืบสานประเพณีบุญมหากฐิน ถิ่นนักปราชญ์ ตามเจตนารมณ์ของเจ้าภาพต่อไป