guideubon

 

ม.อุบลฯ ชนะเลิศการประกวดแฟชั่นเครื่องแต่งกายจากผ้าฝ้าย

ฝ้ายทอใจ-อุบล-02.jpg

นายอรรถวิโรณ์ ทองทิพย์ นักศึกษา คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวดการออกแบบเครื่องแต่งกายจากผ้าฝ้าย “ฝ้ายทอใจ ครั้งที่ 9” จัดโดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จากผู้สมัครทั่วประเทศ คัดเหลือเพียง 8 ทีมสุดท้าย พร้อมแสดงแฟชั่นโชว์ในรอบชิงชนะเลิศ และ ม.อุบลฯ กวาด 2 รางวัล รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศฯ อำเภอบางไทร พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา

ฝ้ายทอใจ-อุบล-01.jpg

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จัดการประกวดแฟชั่นเครื่องแต่งกายระดับชาติ ภายใต้แนวคิด “ที่สุดแห่งวิถี ความรัก และความภาคภูมิสู่หัตถศิลป์บนผืนฝ้าย” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในโอกาสปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 12 สิงหาคม 2559 มุ่งเน้นรณรงค์ให้คนไทยหันมาเห็นคุณค่า นิยมใช้ผ้าฝ้ายที่สืบทอดภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของไทย โดยองค์ประกอบในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งการออกแบบ และการตัดเย็บ แฟชั่นเครื่องแต่งกาย สามารถสวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน มีส่วนประกอบของผ้าฝ้ายทอมือไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 ของการตัดเย็บ เป็นเครื่องแต่งกายสไตล์ ready to wear สำหรับสตรีและบุรุษ ซึ่งมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตัดสินพร้อมประกาศผลในงาน “ฝ้ายทอใจ” ซึ่งผลการตัดสินมี ดังนี้

ฝ้ายทอใจ-อุบล-03.jpg

รางวัลชนะเลิศ ชื่อผลงาน "The them-khorne" ออกแบบโดย : นายอรรถวิโรณ์ ทองทิพย์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

รางวัลรองชนะเลิศ ชื่อผลงาน "Ethnic origin" ออกแบบโดย : นายประกาศิต แก้วรากมุข จาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

รางวัล Popular Vote ผลงาน "ฝ้ายสยาม" ออกแบบโดย : ทีมจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

 ฝ้ายทอใจ-อุบล-05.jpg

ด้าน นายอรรถวิโรจน์ ทองทิพย์ หรือ เต๋า นักศึกษา ชั้นปีที่ 3 คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบอุตสาหกรรม ภาควิชาออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในครั้งนี้ กล่าวว่า รู้สึกดีใจ และภาคภูมิใจที่สร้างชื่อเสียงให้กับคณะและสถาบัน รู้สึกภูมิใจในความมุ่งมานะและชนะตัวเอง เพราะคิดเสมอว่าการทำเสื้อผ้าแฟชั่นคือสิ่งที่ท้าทายมากที่สุด อาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจของใครหลายๆคน แต่การได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิถือเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุด

ส่วนผลงานที่ส่งเข้าประกวด ชื่อ “The Tham-Khorne” เป็นการนำเสนอเรื่องราวบนแผ่นดินอีสาน บุญประเพณีในแต่ละเดือน ที่บ่งบอกถึงวิถีการดำรงชีวิตที่เชื่อมโยงระหว่างพิธีกรรม และการดำรงชีวิตของผู้คนในแต่ล่ะพื้นถิ่น ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและความสามัคคีในพื้นถิ่น โดยใช้งานบุญประเพณีเป็นตัวเชื่อมประสาน ซึ่งในงานบุญประเพณีแต่ล่ะเดือนของชาวอีสานมักจะประดิษฐ์ “ตุง” หรือ “ธุง” หลายหลายรูปแบบและหลากหลายสีสันบนผืนผ้า หรือวัสดุสิ่งอื่น เพื่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ

ฝ้ายทอใจ-อุบล-04.jpg

ด้านความโดดเด่นของผลงาน “The Tham-Khorne” ตนได้นำเอาเอกลักษณ์และวิธีชีวิตของคนอีสาน คือ “ตุงใย” ที่มีลักษณะเด่นทั้งทางรูปทรง สี และความสวยงาม ผสมผสานกับการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับสตรีและบุรุษ โดยใช้ผ้าฝ้ายลายลูกแก้ว มาสกรีนสีลงไปด้วยลายขิดที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน แล้วตัดเย็บโดยใช้เทคนิคโอริกามิ (Origami) ออกมาในรูปแบบของเสื้อผ้าสไตล์ “Sports Look” เป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้จริงๆ และเหมาะกับวันรุ่นปัจจุบัน ที่คิดว่าผ้าฝ้าย หรือผ้าพื้นถิ่นนั้นสวมใส่ยาก “เต๋า” อรรถวิโรจน์ สุดยอดแห่งดีไซน์เนอร์ การประกวดผ้าฝ้าย “ฝ้ายทอใจ ครั้งที่ 9”กล่าว

นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานแห่งความภาคภูมิใจ ของนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรม นำเอกลักษณ์ของประเพณีมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบได้อย่าลงตัว สื่อถึงรากเง้าของความเป็นพื้นถิ่นหรือความเป็นอีสานได้เป็นอย่างดี ดั่งวิสัยทัศน์ของคณะฯที่ว่า “เรียนรู้จากภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล”

เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ/ข่าว