แจ้งเตือนระดับแม่น้ำมูลสูงขึ้น ฉบับที่ 1
วันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2567 นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ออกประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ฉบับที่ 1/2567 แจ้งเตือนระดับน้ำแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้น
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 9 (201/2567) ลงวันที่ 19 กันยายน 2567 เวลา 11.00 น. แจ้งว่า พายุดีเปรสชันบริเวณชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนบน ได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "ซูลิก" แล้ว คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลางในคืนนี้ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงไต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางพื้นที่ และมีลมแรง
และโครงการชลประทานอุบลราชธานี รายงานสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง ประจำวันที่ 25 กันยายน 2567 เวลา 06.00 น. อยู่ที่ 102.52 ม.รทก. ลดลงจากเมื่อวาน 0.17 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 0.84 เมตร ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลและลำน้ำน้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำมูล วันที่ 25 กันยายน 2567 เวลา 06.00 น. ที่สถานีวัดน้ำท่า M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำที่ 110.99 ม.รทก. เพิ่มจากเมื่อวาน 0.19 เมตร อัตราการไหล 1,795.00 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.01 เมตร ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์ดังกล่าว น้ำจะเอ่อล้นตลิงเข้าท่วมทางเข้าออกชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ระดับ 110.38-112.00 ม.รทก. (5.38-7.00 ม.รสม.) คาดว่าจะมีผลกระทบในพื้นที่ ดังนี้
1. เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี ประกอบด้วย ชุมชนโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช 1 (ชุมชนวังแดง), ชุมชนวัดบูรพา 2, ชุมชนบูรพา 3, ชุมชนศาลาบ้านคู่ 1, ชุมชนหลังโรงเรียนเยาวเรศฯ 3, ชุมชนโรงเรียนเยาวเรศ 2, ชุมชนวัดป่าแสนอุดม 1, และชุมชนวัดเลียบ 2
2. เขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ ประกอบด้วย ชุมชนเกตุแก้ว, ชุมชนท่าบ้งมัง, ชุมชนหาดสวนสุข, ชุมชนหาดสวนสุข 1 และชุมชนคูยาง
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี จึงขอให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์เพิ่มขึ้นของน้ำแม่น้ำมูล ดังนี้
1) ให้ติดตามสภาวะอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำตามแนวตลิ่งแม่น้ำมูล พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
2) ขอให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่ดังกล่าว เตรียมพร้อมในการอพยพขึ้นสู่ที่สูง โดยขอให้ประสานกับผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ และอำเภออย่างใกล้ชิด
3) ให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย ปี 2567 โดยให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานทหาร และตำรวจในพื้นที่
4) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวที่เหมาะสม โดยให้อพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชัวคราว พร้อมทั้งดูแลผู้ประสบภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านการบริการศูนย์ฯ โดยในภาพรวมให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมันคงของมนุษย์จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานให้คำแนะนำ