เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดถึงอุบลฯ เตือนอย่าใช้สารเคมีฆ่าแมลง
พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดเป็นครั้งแรกในพื้นที่ภาคอีสาน เนื้อที่กว่า 60,000 ไร่ ครอบคลุม 6 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, ยโสธร, สุรินทร์ และสกลนคร
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว เผยว่า ขณะนี้หน่วยงานในสังกัด ได้เร่งลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และให้คำแนะนำเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งสนับสนุนสารเคมีและแนะนำวิธีการใช้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งจัดหน่วยบริการตรวจสุขภาพข้าว (Mobile Unit) ของศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี เป็นหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้การป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ในระยะนี้ ขอให้ชาวนาภาคอีสานหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกัน ตรวจนับความหนาแน่นของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หากพบมีตัวอ่อนเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 10 ตัวต่อต้น ให้ใช้สารฆ่าแมลงไพเมทโตรซินในอัตราตามที่ฉลากแนะนำ และ งดใช้สารเคมีอบาเมกตินและไซเปอร์เมทริล เพราะจะทำให้แมลงที่คอยควบคุมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลถูกกำจัดไปด้วย
ส่วนแปลงนาถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดในลักษณะไหม้เกิน 20% ของพื้นที่ ไม่ควรใช้สารเคมีฆ่าแมลง เนื่องจากจะทำให้เกิดการอพยพไปยังแปลงอื่น และควบคุมการระบาดได้ยากขึ้น แนะนำให้ติดตั้งกับดักกาวเหลืองแทน “เนื่องจากการระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในภาคอีสาน ไม่สามารถใช้วิธีการได้เหมือนภาคกลาง เนื่องจากพื้นที่อยู่ในเขตนาน้ำฝน นิยมปลูกข้าวหอมมะลิ 105 กข6 และ กข15 ล้วนไม่มีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และนาส่วนใหญ่ 90% ปลูกข้าวด้วยการหว่านข้าวแห้งแทนการปักดำ กรมการข้าวจึงต้องลงพื้นที่สำรวจติดตามสถานการณ์เก็บข้อมูลอย่างละเอียด ทั้งข้อมูลพันธุ์ข้าว วิธีการปลูกและระยะการเจริญเติบโตของข้าวในแต่ละจังหวัด เพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุและหาแนวทางการป้องกันกำจัดที่เหมาะกับการจัดการ ในภาคอีสานให้ประสบผลสำเร็จเหมือนในภาคกลางต่อไป” อธิบดีกล่าว
ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐออนไลน์