ศิษย์เก่าเกษตร ม.อุบลฯ ฝึกนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติ
ศิษย์เก่าเกษตรศาสตร์ ม.อุบลฯ บัณฑิตหนุ่มที่ทุ่มเทกับงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า สามารถเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติกว่า 40 ปี และฝึกนกกระเรียนพันธุ์ไทย เตรียมนำกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพิ่มสายพันธุ์สัตว์เข้าไปในระบบนิเวศของสัตว์ป่าในประเทศไทย ย้ำภาคภูมิใจในหน้าที่ จบสัตวศาสตร์ไม่จำเป็นว่าต้องเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจไว้เพื่อการบริโภคอย่างเดียว เราสามารถที่จะนำความรู้มาใช้เพื่อพัฒนาธรรมชาติ ดูแลสัตว์ป่า ขยายพันธ์สัตว์สร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม
นายธนัท อุตรวิเศษ หรือ ตั๊ก ศิษย์เก่าคณะเกษตรศาสตร์ สาขาสัตวศาสตร์ ( รุ่นที่ 13 ) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อายุ 35 ปี ภูมิลำเนา อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ทำงานตำแหน่ง ผู้ประสานงานโครงการวิจัย องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สวนสัตว์นครราชสีมา ที่ได้ตระหนักเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ สามารถพัฒนาเทคนิคในการเพาะขยายพันธุ์ วิธีการในการฝึกและการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการนำประชากรนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่เคยสูญพันธุ์จากถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของประเทศไทยแล้วให้กลับคืนมา
“ตั๊ก” ธนัท อุตรวิเศษ บอกว่า ตนได้เข้าทำงานที่สวนสัตว์นครราชสีมา เมื่อปี 2553 ได้นำความรู้ที่เรียนมาในสาขาสัตวศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ ในการเพาะขยายพันธุ์เนื่องจากการทำงานเกี่ยวกับสัตว์ป่า ทั้งสัตว์นมและสัตว์ปีก โดยความสำคัญของการทำงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าจะต้องทำการเพาะขยายพันธุ์ให้ได้เสียก่อน โดยสรีระของสัตว์ป่าและสัตว์เศรษฐกิจที่ได้เรียนมาก็มีโครงสร้างที่ไม่ต่างกัน
ในส่วนของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งปัจจุบันนกกระเรียนพันธุ์ไทย ได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี โดยมีหลักฐานการพบในธรรมชาติครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2511 บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดสุรินทร์ จนทำให้นกชนิดนี้จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และถือว่าเป็นนกที่มีสถานภาพสูญพันธุ์จากธรรมชาติของประเทศไทยแล้ว
ทั้งนี้ ตนได้รับผิดชอบชุดฝึกนกกระเรียน ซึ่งมีที่เดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ โดยมี นายวันชัย สวาสุ หัวหน้าโครงการวิจัยการปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติ ได้รับการถ่ายทอดมาจาก Dr.George Archibaild ประธานมูลนิธินกกระเรียนสากลจากประเทศสหรัฐอเมริกา (เป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับสายพันธุ์นกกระเรียนทั่วโลก ) เทคนิคในการฝึกสำหรับการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ วิธีการฝึกแบบนี้เราเรียกว่า Isolation rearing technique หรือ การเลี้ยงลูกนกโดยให้คนใส่ชุดคลุมลักษณะคล้ายพ่อแม่นก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกนกเกิดพฤติกรรมความฝังใจในมนุษย์ และช่วยส่งเสริมให้นกจดจำในแหล่งพื้นที่เกิด โดยเทคนิคนี้ได้นิยมนำมาใช้มากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมกับลูกนกกระเรียนที่จะทำการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งในกระบวนเลี้ยงจะให้คนเลี้ยงใส่ชุดคลุมที่มีลักษณะและสีของชุดคล้ายกับนกกระเรียนที่โตเต็มวัย
“ตั๊ก” ธนัท อุตรวิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำลูกนกมาอนุบาล โดยเฉพาะการใช้ชุดคลุมหุ่นนกจะเข้มงวดในเรื่องของกระบวนการในการเลี้ยงดู หลังจากที่ลูกนกฟักออกจากไข่ ในช่วง 3-5 วันแรก คนเลี้ยงที่ใส่ชุดคลุมหุ่นนกต้องเริ่มให้อาหารโดยการใช้หัวหุ่นนกจำลองและสอนให้ลูกนกรู้จักการจิกอาหารจากในชาม การสอนนี้โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที ทุกๆชั่วโมง แต่หลังจากนั้นอาจต้องเพิ่มเวลาเป็น 30 นาที และทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนที่ลูกนกสามารถกินอาหารได้เอง เมื่อนกกระเรียนเริ่มฝึกบิน ในช่วงเช้า คนเลี้ยงที่ใส่ชุดหุ่นที่มีลักษณะคล้ายแม่นกต้องพาลูกนกออกไปยังกรงฝึกปล่อยที่มีหลังคาเปิด และตอนเย็นคนเลี้ยงจะพาลูกนกจะกลับเข้ามานอนในกรงเตรียมฝึกปล่อย ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากสัตว์ผู้ล่า และลูกนกจะได้เริ่มฝึกหากินด้วยตนเองบริเวณแหล่งอาหารที่จัดให้ภายในกรงฝึกปล่อย ซึ่งในช่วงนี้จะมีการเก็บข้อมูลทางด้านพฤติกรรมของนกกระเรียนควบคู่กันไปด้วย หลังจากนั้นเมื่อครบระยะเวลาการฝึกประมาณ 2 เดือน จึงทำการประเมินพฤติกรรมของ ลูกนกกระเรียนอีกครั้งก่อนที่จะทำการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป
นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ บัณฑิตคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาประกอบวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดทั้งการใช้ชีวิตแบบพอเพียง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและประเทศชาติ อีกทั้งเป็นส่วนสำคัญในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์สัตว์ป่า คงจะดีไม่น้อยหากคนไทยหันมาดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกันรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่ระบบนิเวศน์ที่ดี สร้างความสุขให้กับสังคมได้อย่างแน่นอน
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ/ ข่าว