เปิดตารางเดินรถไฟ ส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา
วันที่ 24 กรกฎาคม 2564 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และเรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวในประเด็นการนำผู้ติดเชื้อโควิด 19 กลับภูมิลำเนา และเข้าสู่ระบบการรักษา ที่กระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความเป็นห่วงผู้ป่วยโควิด-19 ทำงานใน กทม. และอยากจะกลับไปภูมิลำเนาในต่างจังหวัด โดยมอบหมาย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและวางแผนนำส่งผู้ป่วยกลับด้วยความปลอดภัย ไม่แพร่กระจายเชื้อในระหว่างการเดินทาง ทั้งนี้ ประชากรในกรุงเทพมหานคร มีประมาณ 8 ล้านคน และที่มาจากภูมิภาคมาอยู่ใน กทม. ประมาณ 2.4 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดการณ์ว่ากลุ่มเหล่านี้อาจมีผู้ติดเชื้อที่จะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา
ทั้งนี้ ผลจากมาตรการล็อกดาวน์มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางกลับภูมิลำเนาผ่านระบบ ศบค. ตั้งแต่ 19-22 ก.ค. 2564 รวม 504,241 ราย แบ่งเป็นดังนี้
วันที่ 19 ก.ค.64 63,512 ราย
วันที่ 20 ก.ค.64 191,535 ราย
วันที่ 21 ก.ค.64 150,410 ราย
วันที่ 22 ก.ค.64 98,784 ราย
คนกลุ่มนี้เป็นการเดินทางไปเอง จึงมีความกังวลว่าจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ด้วย ทางรัฐบาลจึงต้องมีมาตรการออกมาเพื่อความปลอดภัยและเมื่อไปถึงภูมิลำเนาจะได้รับการดูแลทันที โดยลงทะเบียนที่สายด่วน 1330 กด 15 หรือผ่านเว็บไซต์ จากนั้น สปสช. จะส่งมายังกระทรวงสาธารณสุข ประสานต่อไปยังสาธารณสุขจังหวัด ต่อด้วยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เพื่อเตรียมการใช้รถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน ซึ่งหลังจากประสานแล้วคาดว่าไม่เกิน 3 วันจะเดินทางไปถึงภูมิลำเนา ซึ่งขณะนั้นผู้ป่วยยังต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แต่หากมีอาการหนักขึ้นระหว่างนี้ให้ติดต่อที่ สายด่วน 1330 หรือสายด่วน 1668
สำหรับการระบาดระลอกใหม่ มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดที่เดินทางจาก กทม.และปริมณฑลกลับภูมิลำเนาซึ่งมีการประสานผ่านระบบมีจำนวนทั้งสิ้น 31,175 ราย ซึ่งผู้ที่จะเดินทางประเมินแล้วต้องเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อและต้องการกลับภูมิลำเนา เมื่อเดินทางไปแล้วขอให้รายงานตัวกับทางจังหวัด
ทางด้าน ทันตแพทย์อรรถพร กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่ต้องการกลับภูมิลำเนาสามารถติดต่อได้ทางสายด่วน สปสช. 1330 กด 15 ซึ่งกำลังเพิ่มเป็น 2,100 คู่สาย หรือติดต่อทางเว็บไซต์ หรือการสแกนคิวอาร์โค้ด ซึ่งแสดงผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดย สปสช. จะส่งให้กระทรวงสาธารณสุขทุกวันในช่วงเวลา 08.00 น.
ขณะที่ เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาต้องอยู่ในเกณฑ์อาการสีเขียว หากอาการรุนแรงจะส่งรถฉุกเฉินรับไปส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสมแทน สำหรับพาหนะในการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาร่วมมือกับกระทรวงคมนาคม จัดเตรียมรถไฟ รถ บขส. และรถตู้ไว้บริการ ประสานกรมการขนส่งทหารบก กรมแพทย์ทหารบก จัดรถขนาดใหญ่หรือเครื่องบิน โดยผู้ที่จะเดินทางกลับโดยเครื่องบินต้องผ่านการประเมินสุขภาพว่าพร้อมสำหรับการเดินทาง (Fit to Fly) นอกจากนี้ มีการจัดบุคลากรทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดูแลตลอดการเดินทาง โดยรถบัส รถทัวร์ จะมีรถพยาบาลฉุกเฉินตามไปด้วย ส่วนรถไฟและเครื่องบินจะมีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามเพื่อดูแลหากมีเหตุฉุกเฉิน
“สพฉ. จะจัดยานพาหนะไว้ 3 ช่วง คือ ช่วงแรกเป็นการไปรับส่งผู้ป่วยจากบ้านมายังสถานีรถไฟ บขส. หรือเครื่องบิน เนื่องจาก กทม. มีการใช้รถรับส่งผู้ป่วยจำนวนมาก ช่วงที่ 2 คือยานพาหนะที่รับส่งระยะยาว คือ รถบัส รถไฟ เครื่องบิน เป็นต้น และช่วงที่ 3 คือ การรับส่งที่จังหวัดปลายทาง โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือโรงพยาบาลจะจัดรถมารับ ทั้งนี้ อยากให้ผู้ติดเชื้อที่ต้องการเดินทางกลับใช้ระบบบริการที่รัฐจัดให้ เนื่องจากมีความปลอดภัยและไม่มีค่าใช้จ่าย”
สำหรับขบวนรถไฟขนคนป่วยโควิดฯ กลับบ้าน สายกรุงเทพ-อุบลฯ
วันที่ 26,30 กรกฎาคม 2564 และ
วันที่ 03, 07, 11, 15, 19, 23, 27, 31 สิงหาคม 2564
ต้นทางสถานีจิตลดา รถออก 07.00 น.
ผู้ป่วยต้องมารายงานตัวก่อน 06.00 น. เพื่อคัดกรองก่อนขึ้นขบวนรถ
สถานีที่รถหยุดตามรายทาง คือ สระบุรี, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี