guideubon

 

 

โปรแกรมเมอร์หนุ่ม หันหลังให้เมืองกรุง มุ่งสู่เกษตรพอเพียงตามรอยพ่อหลวง

นิวัฒน์-แก้วดี-เกษตรพอเพียง-04.jpg

“จบปริญญามาแล้วทำไมมาทำงานแบบนี้ ทำไมไม่ทำงานสบายๆ ในห้องแอร์ มาทนตากแดดลมฝนทำไม คิดว่าจะไปได้สักกี่น้ำ” คำถามซ้ำๆ ที่ดังก้องในหู บัณฑิตหนุ่มศิษย์เก่า ม.อุบลฯ วัย 27 ปี บ้านเกิดเมืองช้าง จ.สุรินทร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำงานในบริษัทเอกชนด้านซอฟท์แวร์แห่งหนึ่งในเมืองหลวง กทม. ตัดสินใจหันหลังให้สังคมเมือง ที่สับสนวุ่นวาย มุ่งมั่นในสิ่งที่ตนชอบและฝันมาตั้งแต่เด็กคือทำการเกษตรพอเพียงตามรอยพ่อหลวง แม้ต้องทนกับแรงเสียดทาน จากชาวบ้านว่าทำไม่ได้ จนในที่สุดวันนี้ บัณฑิตหนุ่มไอทีหัวใจเกษตร ได้พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็น ว่าความสุขที่แท้จริงของชีวิตคือความพอเพียง 

นิวัฒน์-แก้วดี-เกษตรพอเพียง-02.jpg

นายนิวัฒน์ แก้วดี หรือ ดอน บัณฑิตหนุ่ม ม.อุบลฯ บอกว่า หลังจากจบการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2554 ตนได้เข้าทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งด้านซอฟท์แวร์ที่กรุงเทพฯ ในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ ภายหลังที่ตนเรียนรู้ประสบการณ์ในสังคมเมืองได้ประมาณ 3 ปี ตนเริ่มรู้สึกเหนื่อย และเริ่มเบื่อกับสิ่งเดิมๆ ที่เกิดขึ้น กับชีวิตที่สับสนวุ่นวายการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ ต้องทำงานแข่งกับเวลา แข่งกับคนรอบข้าง และแข่งกับชีวิตที่เหลืออยู่ซึ่งไม่รู้จะอยู่ได้นานสักแค่ไหน

นิวัฒน์-แก้วดี-เกษตรพอเพียง-03.jpg

ตนนึกถึงภาพตอนเป็นเด็ก กับบรรยากาศของท้องทุ่งนาบ้านเกิดจังหวัดสุรินทร์ มีพ่อแม่ และครอบครัวอบอุ่น ด้วยตนมีใจรักด้านทำการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก คงจะดีหากเรามาทำแบบจริงจัง ตนจึงตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าบอกลาชีวิตเมืองกรุง แม้ว่าหลายคนจะไม่เห็นด้วย จากที่เคยมีเงินเดือนประจำ ต่อแต่นี้ไม่มีต่อไป ทั้งนี้ งานด้านการเขียนโปรแกรม ตนก็ไม่ทิ้ง เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีระบบสื่อสารสะดวกอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ทุกที่ หากแต่ว่าวันนี้ห้องทำงานใหม่ของตนดูกว้างมากไม่มีแอร์ แต่อากาศดี ไม่มีศูนย์การค้าแต่มีอาหารทานทุกมื้อ ซึ่งเราต้องจัดการเวลาให้กับชีวิตที่เหลืออยู่ให้จงได้ การเริ่มต้นงานใหม่ด้านการเกษตร

นิวัฒน์-แก้วดี-เกษตรพอเพียง-05.jpg

“ดอน” นิวัฒน์ แก้วดี หนุ่มไอที หัวใจเกษตร เล่าต่อว่า นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีจากศูนย์ ที่ไม่มีทุนเดิมมาก่อนเลยทั้งความรู้ด้านการเกษตร การบริหารจัดการต่างๆ ตนจึงเริ่มเรียนรู้จากหารศึกษาจากตำรา หนังสือ เว็บไซด์สื่อโซเชียลต่างๆ ที่สำคัญตั้งมั่นไว้ว่าการทำเกษตรของตนจะเป็นเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี 100% เริ่มต้นจากที่ดิน 1 ไร่ ที่พ่อกับแม่ให้มาเป็นต้นทุนชีวิต ท่ามกลางแรงกดดันของชาวบ้านในชุมชนที่ไม่เคยเห็นการทำเกษตรแบบนี้มาก่อน ซึ่งเดิมที่ดินผืนนี้เคยปลูกมันสำปะหลังและใช้สารเคมีมาก่อน

นิวัฒน์-แก้วดี-เกษตรพอเพียง-06.jpg

ตนได้น้อมนำความรู้หลักการทำเกษตรเกษตรทฤษฏีใหม่จากพ่อหลวงมาใช้ ตนได้ปลูกกระท่อมเล็กๆไว้พื้นที่ส่วนหนึ่ง โดยปลูกหญ้าแฝกและปอเทืองในการปรับสภาพดิน และใช้เศษอาหารและพืชต่างๆ มาทำเป็นน้ำหมัก และปุ๋ยชีวภาพ อีกส่วนขุดสระแบบผ้ายาง เลี้ยงปลาไว้กินและน้ำจากสระเลี้ยงปลาที่ต้องระบายทิ้งตลอดก็นำมารดผัก เป็นปุ๋ย ให้กับผักอีกทาง พื้นที่ส่วนที่เหลือคือไว้ปลูกผัก พยายามปลูกผักที่หลากหลายแบบผสมผสาน ช่วงแรกยอมรับว่าลองผิดลองถูกเรื่อยมา จนเริ่มเรียนรู้มากขึ้นจากการปลูกพืชผักสวนครัวธรรมดาอาทิ ผักชี กวางตุ้ง หอมแบ่ง ถั่วฟักยาว มะเขือ ผักบุ้ง กระเพรา โหระพา ตะไคร้ อื่นๆ

นิวัฒน์-แก้วดี-เกษตรพอเพียง-07.jpg

ปัจจุบันพัฒนาสู่การปลูกผักเมืองหนาว ที่เขาว่าปลูกได้ตามพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเท่านั้น อาทิ หัวไซเท้า เรคโอ้ค เรคคอส ผักกาดหอม ซึ่งตนสามารถปลูกได้ มีผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ หลายคนยังไม่เชื่อว่าสามารถปลูกได้ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

แม้วันนี้หลายคนมองว่า งานหนักเหนื่อยและลำบาก แต่แท้ที่จริงมีคนที่ทำงานหนักกว่าเราหลายร้อยพันเท่าน คือ พ่อหลวง ร.9 ของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงงานหนักมาตลอดระยะเวลา 70 ปี ของการครองราชย์ ตนจึงตั้งปณิธานในการสืบทอด และน้อมนำแนวทางการดำเนินชีวิตที่พอเพียงโดยการเกษตรพอเพียงมาใช้ตามรอยพ่อ ตนท่องในใจเสมอว่า พอเพียง ไม่ได้ให้หยุดทำงาน แต่ให้พอเท่าที่มี พอเท่าที่ทำได้ พอเท่าที่มีความสุขกับมัน “ความพอ พอดี พอใจ และพอเพียง”

นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบัณฑิต “ดอน” นิวัฒน์ แก้วดี หนุ่มไอที หัวใจเกษตร แห่ง ม.อุบลฯ ในการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม ในการใช้ชีวิตที่ดีมีความสุขแบบพอเพียง เยี่ยมชมสวนและผลงานของนิวัฒน์ได้ที่ facebook : นายนิวัฒน์ แก้วดี

เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511