ราชภัฏอุบลฯ แถลงข่าวจัดงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ณ UBRU Happiness Stadium มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จัดงานแถลงข่าวงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 “ยลแสง-ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข” ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2566
งานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมและสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลาย ปรากฏอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ คุณค่าแห่งศิลปวัฒนธรรมไทยนี้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น อีกทั้งมีเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้คนได้สัมผัสทั้งด้านนาฏศิลป์ คีตศิลป์ และวิจิตรศิลป์ เริ่มจัดงานครั้งแรกในปี 2541 โดยมีมหาวิทยาลัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ ภายใต้ชื่อ “งานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมทบวงมหาวิทยาลัย”
ในปี 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานการจัดงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา มีมติเห็นชอบให้ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพการจัดงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 ภายใต้ชื่องาน “ยลแสง-ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข” ซึ่งกำหนดจัดงานในระหว่างวันที่ 17 - 19 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ มี 92 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ พร้อมด้วยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม และราชอาณาจักรกัมพูชา ร่วมแสดงและแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมในครั้งนี้ด้วย โดยการแสดงแบ่งออกเป็น 3 เวที ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการแสดงตลอดทั้งวัน คือ
- เวทีหอประชุมไพรพะยอม
- เวทีศูนย์ศิลปวัฒนธรรมฯ
- เวทีตลาดสุขใจ
นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ภายใต้การนำของท่านอธิการบดีท่านปัจจุบัน นำมหาวิทยาลัยโดยใช้วิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข หรือ Happiness University” มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมที่บูรณาการการเรียนการสอนกับการทำงานของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมระดับชาติและนานาชาติในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิก เดย์ รัน เมื่อปี 2560 การเป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 “ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์” ปี 2562 การเป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน ครั้งที่ 20 เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา และเมื่อต้นปี 2566 ก็เป็นผู้สนับสนุนในการจัด “โครงการกีฬาและการท่องเที่ยว เพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน” ที่จะจัดขึ้น ณ แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
กิจกรรมต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีจัดขึ้น สอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (พ.ศ. 2566-2570) ประเด็นการพัฒนาที่ 3 เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งทุกกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีจัดขึ้น นับเป็นงานใหญ่ที่มีผู้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมและนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพิ่มการใช้จ่ายด้านสินค้าและบริการ ในครั้งนี้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 ภายใต้ชื่อ “ยลแสง – ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข” นับเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นสื่อเผยแพร่ข้อมูลการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมที่จังหวัดอุบลราชธานีมีความโดดเด่นมากมาย
“อุบลราชธานี” เป็นจังหวัดที่เพียบพร้อมไปด้วยมรดกทางธรรมชาติ มรดกทางศาสนา และมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรม เป็นเมืองใหญ่ที่ยังคงความสุข - ความสงบในการใช้ชีวิต และเป็นเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายมงคล จุลทรรศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เป็นอีกครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สร้างความชื่นชมและเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมระดับชาติในจังหวัดอุบลราชธานีของเรา ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีได้แสดงให้เห็นมาโดยตลอดว่าเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมสำคัญ ๆ ในจังหวัดของเราเสมอ ตามวิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ที่ไม่ได้สร้างความสุขเฉพาะบุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเท่านั้น
ความสุขที่ส่งต่อจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ถูกส่งต่อให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในการได้รับชมและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งผลประโยชน์จากการใช้ที่พักโรงแรม บริการขนส่งมวลชน ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ และการท่องเที่ยวต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่หอการค้าจังหวัดกล้ายืนยันถึงความสำเร็จและผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมระดับชาติและระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีมาโดยตลอด งานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 21 “ยลแสง – ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข” จะเป็นอีกกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีช่วยให้นครอุบลราชธานีของเรา เป็น “นครแห่งความสุข”
“ความสุข” ของเยาวชน จากการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมทั่วทุกภูมิภาค
“ความสุข” ของนักศึกษา ที่มีกิจกรรมในการบูรณาการการเรียนการสอนกับการทำงาน
“ความสุข” ของประชาชนในสุนทรียะที่ได้จากความเพลิดเพลินสุดแสนตระการตา และ
“ความสุข” ของภาคธุรกิจเอกชน โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ต่างได้รับประโยชน์จากกิจกรรมดังกล่าว
ด้าน รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี บริหารและดำเนินงานไปสู่เป้าหมายในการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ซึ่งหมายถึง ความสุขของนักศึกษาที่ได้รับจากการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการกับการทำงาน ได้เรียนรู้จริงผ่านกิจกรรมและกระบวนการที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ความสุขของคณาจารย์และบุคลากรที่ได้รับจากบรรยากาศในการทำงาน ทั้งด้านกายภาพภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี และด้านสังคมภายใต้สุขภาวะและสัมพันธภาพที่ดี
นอกจากนี้ ความสุขที่เราต้องการตามวิสัยทัศน์นี้ ยังหมายความรวมถึงความสุขของเมือง ความสุขของประชาชนชาวอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง ที่มีมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งจัดกิจกรรม ทั้งกิจกรรมการเรียนรู้โดยตรง หรือกิจกรรมที่มีผลต่อการพัฒนา กิจกรรมที่มีผลต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจ รวมทั้งกิจกรรมที่มีผลต่อชื่อเสียงของเมืองและการเป็นที่รับรู้โดยทั่วไป การจัดงานในครั้งนี้ภายใต้แนวคิด
แสง: ดินแดนแสงแรกแห่งสยาม เรืองงามแสงธรรมแห่งศรัทธา ล้ำค่าแสงเทียนพรรษาชาวอุบลราชธานี
ศิลป์: เมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรมหลากหลายแขนง เป็นมรดกภูมิปัญญาที่ สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ได้แก่ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ และทัศนศิลป์ อันเป็นเอกลักษณ์ของอุบลราชธานี
ดินแดนแห่งความสุข: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุข มุ่งหมายให้นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร มีความสุขในทุก ๆ มิติ ตลอดจนการขับเคลื่อนความสุขสู่ชุมชน อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีเป้าหมายพัฒนาจังหวัดไปสู่เมืองท่องเที่ยวแห่งความสุข
“ยลแสง – ศิลป์ ดินแดนแห่งความสุข” จึงหมายถึง ทุกท่านที่เดินทางมาร่วมงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษาครั้งที่ 21 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จะได้ยลความงดงามของเมืองแห่งแสงแรก แสงธรรม แสงเทียน ธรรมชาติงดงาม พร้อมทั้งสัมผัสสุนทรียศิลป์จากมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันงดงาม ทรงคุณค่าจากทุกภูมิภาคของไทย และมีความสุขในระหว่างเยือนมหาวิทยาลัยแห่งความสุข เมืองท่องเที่ยวแห่งความสุข จังหวัดอุบลราชธานี