ทำงานพาทไทม์แล้วเป็นไง? เปิดใจวัยรุ่นเมืองอุบล เรียนดี ทำงานมีรายได้
เป็นที่เข้าใจมาโดยตลอดว่า ทัศนะคติของคนไทยส่วนมากจะมองว่า เด็กนักเรียน นักศึกษาที่ทำงาน part time หรือทำงานหารายได้พิเศษ มักจะเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ทำให้เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสืออย่างเดียว ไม่อยากทำงานพิเศษ หรือบางคนอยากทำงานพิเศษ แต่ครอบครัว ผู้ปกครองก็ไม่อนุญาตให้ทำ เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เสียการเรียน เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และอาจทำให้คนอื่นเข้าใจผิดว่า ครอบครัวยากจน
สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี การทำงานพิเศษ อาจไม่ใช่เพราะฐานะทางบ้านยากจนเสมอไป เนื่องจากนักเรียน นักศึกษากลุ่มหนึ่ง กลับมีความคิดอยากทำงานพาทไทม์ เพื่อหารายได้พิเศษ ส่วนหนึ่งคือ จะได้ไม่ต้องรบกวนค่าใช้จ่ายทางบ้าน อีกส่วนหนึ่งคือ หารายได้ใช้ส่วนตัว ซื้อของที่ตัวเองอยากได้ ดังเช่น นายชัยพร มณีวรรณ นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ทำงานหารายได้พิเศษที่ร้านแซบซอย 9 มาเกือบ 2 ปีแล้ว
"ต้อม" นายชัยพร มณีวรรณ นศ. ม.ราชภัฏอุบลฯ ปัจจุบันเรียนอยู่คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีไฟฟ้า ชั้นปีที่ 3 กล่าวกับไกด์อุบลว่า ตนเป็นคนอุบล เกิดที่ อ.ม่วงสามสิบ คุณพ่อมีอาชีพทำนาทำสวน คุณแม่มีอาชีพค้าขายในตลาด กม.29 ทางไปอำนาจเจริญ ก่อนถึงตัว อ.ม่วงสามสิบ 6 กิโลเมตร ฐานะทางบ้านไม่ถึงกับว่าลำบาก พอดีมีเพื่อนทำงานที่ร้านแซบซอย 9 ชักชวนให้มาทำ ตนเห็นว่าเป็นงานที่ไม่ลำบากมากนัก และที่สำคัญไม่กระทบกับเวลาเรียน จึงเริ่มมาทำตั้งแต่กลางปี 2558 งานที่ทำส่วนใหญ่เป็นคนเดินอาหารจากครัวมาที่โต๊ะลูกค้า ระยะหลังเปลี่ยนมาเป็นออกเครื่องดื่มและเดินบิล
การทำงานพิเศษ ทำให้มีรายได้ประจำ จากเดิมที่ได้รับจากทางบ้านสัปดาห์ละ 500 บาท ภายหลังเริ่มทำงานพาทไทม์แล้ว ก็ตกลงกับทางบ้านว่า ให้ทางบ้านส่งแต่ค่าเทอมเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่าเช่าหอพัก ค่าน้ำมันรถ ตนสามารถใช้เงินจากการทำงานพิเศษได้ ซึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ยังมีเงินเหลือออมอีกด้วย ทำให้บางครั้งสามารถซื้อสิ่งของที่อยากได้ให้เป็นรางวัลกับชีวิตได้ โดยไม่ต้องรอขอเงินจากทางบ้านอย่างเดียว เป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก
นอกจากรายได้ที่เป็นตัวเงินแล้ว การทำงานพิเศษ ยังทำให้เราได้ประสบการณ์ ทั้งการทำงานเป็นทีม การรักษาระเบียบวินัย การให้การบริการลูกค้า ตลอดถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ การทำงานกับคนหมู่มาก ทำให้เราได้เพื่อน ได้พี่ ได้น้อง เพิ่มขึ้น จากที่เคยเป็นผู้รับ เดี๋ยวนี้เราสามารถสอนงานรุ่นน้องได้ คอยช่วยน้องๆ แก้ปัญหา บางครั้งก็ได้พัฒนาทักษะด้านภาษากับลูกค้าชาวต่างชาติด้วย สิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถหาได้จากตำราเรียน
สำหรับรื่องทัศนะคติของคนส่วนใหญ่ที่ว่า เด็กที่ทำงานพาทไทม์ เป็นคนจน เป็นเรื่องน่าอายนั้น ไม่มีในความคิดของตนเลย ทั้งเพื่อนที่คณะและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยก็ทราบว่าตนทำงานพาทไทม์ที่ร้านแซบซอย 9 ยังไม่เคยมีใครว่ากล่าว หรือดูถูกแต่อย่างใด อาจารย์ที่มาทานอาหารที่ร้านแล้วพบตน ยังชื่นชมว่า ขยัน เก่ง รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อนๆ บางคน ยังอยากมาทำงานด้วย ที่สำคัญ แม้ว่าจะต้องทำงานไปด้วย เรียนหนังสือไปด้วย แต่ผลการเรียนก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ได้เกรดเฉลี่ย 3.40
ทางด้านคุณฌานนท์ ศรีธัญรัตน์ ผู้จัดการร้านอาหารแซบซอย 9 กล่าวว่า ทางร้านมีนโยบายสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา ได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยการทำงานพาทไทม์หารายได้พิเศษ ซึ่งตนย้ำว่าจะต้องไม่ทำให้เสียการเรียนด้วย โดยเด็กที่มาสมัครทำงาน จะต้องส่งตารางเรียนมาให้ดูว่าเลิกเรียนกี่โมง ทางร้านจะบวกเวลาเดินทางให้อีกประมาณ 45 นาที เมื่อมาถึงร้านแล้ว ที่ร้านจะมีข้าวให้กินก่อนเริ่มงาน หลังจากทำงานเมื่อปิดร้านแล้ว เด็กคนไหนจะกินข้าวก่อนกลับบ้านอีกก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกิน เนื่องจากต้องการพักผ่อน บางคนก็กลัวอ้วน พนักงานพาทไทม์ทุกคน จะมีรายได้จากเงินเดือนรวมทิปจากลูกค้า ประมาณเดือนละ 6,000 - 9,000 บาท
การทำงานพาทไทม์ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย กลับเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจเสียอีก ที่สามารถทำงานหาเงินใช้จ่ายเองได้ ไม่เป็นภาระของพ่อแม่ อยากให้วัยรุ่นยุคใหม่ มีความคิดแบบ "ต้อม" หนึ่งในพนักงานพาทไทม์ของร้านแซบซอย 9 ที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย มีรายได้ ผลการเรียนก็ไม่เสีย เป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนในปัจจุบัน คุณฌานนท์ ศรีธัญรัตน์ ผู้จัดการร้านอาหารแซบซอย 9 กล่าวทิ้งท้าย