ประมงจังหวัดอุบล ขอความร่วมมืองดจับสัตว์น้ำในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่
นายประเสริฐ มั่นศิริ ประมงจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกันยายนของทุกปี ปริมาณน้ำในแม่น้ำ ลำคลอง จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากฝนที่ตกหนักทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีแดงซึ่งเรียกว่า "ฤดูน้ำแดง” จากฝนที่ตกชะล้างหน้าดิน และพัดเอาตะกอนธาตุอาหารต่างๆ ลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ปลาน้ำจืดผสมพันธ์และวางไข่
จากเหตุผลดังกล่าว ทางราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับนิสัยการผสมพันธ์และวางไข่ พบว่าระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึง 15 กันยายน ของทุกปี เป็นช่วงที่ปลาน้ำจืดผสมพันธ์วางไข่มากที่สุด จึงได้กำหนดให้ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นฤดูปลาน้ำจืดมีไข่และวางไข่เลี้ยงลูกทั้งประเทศตามประกาศกระทรวงเกษตรฯลงวันที่ 17 เมษายน 2507 เว้นแต่บางจังหวัดที่มีการศึกษาวิจัยทางวิชาการจนเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ช่วงระยะเวลาของฤดูปลาน้ำจืดมีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก มีความแตกต่างออกไปตามสภาพภูมิประเทศ ดินฟ้า อากาศ และสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อการวางไข่แพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ ก็ให้จังหวัดประกาศกำหนดปลามีไข่และวางไข่เลี้ยงลูกเป็นการเฉพาะ
ในฤดูปลามีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก ในช่วงเวลาที่กำหนด ห้ามมิให้ทำการประมงในแหล่งน้ำจืดสาธารณประโยชน์ทุกแห่ง เว้นแต่เครื่องมือที่ไม่ทำลายพ่อพันธ์แม่พันธ์ปลามากนัก และเพื่อให้ประชาชนสามารถมีอาหารโปรตีนจากปลาบริโภค จึงอนุญาตให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ทำการประมงได้
1. เบ็ดทุกชนิด เว้นแต่เบ็ดราว
2. ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และชนาง ซึ่งมีปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และห้ามไม่ให้ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป
3. ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง
เพื่อควบคุมมิให้จับสัตว์น้ำวัยอ่อนไปใช้ประโยชน์เกินความจำเป็น เพื่อให้มีลูกพันธ์สัตว์น้ำที่เจริญเติบโต ให้มีใช้ประโยชน์ตลอดไป จึงห้ามมิให้รวบรวมลูกสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำในวัยอ่อน ในช่วงเวลาดังกล่าวเว้นแต่เพื่อการเพาะเลี้ยง โดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง
ทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นของส่วนรวมที่มีคุณค่ายิ่ง จึงขอความร่วมมือจากทุกท่าน ให้งดจับปลาในฤดูปลามีไข่ และช่วยกันส่องดูแล มิให้มีการฝ่าฝืนมาตรการของราชการ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการประมง
ส.ปชส.อุบลราชธานี/ข่าว/11 พ.ค.60