ราชภัฏอุบลฯ จัดเสวนาเรื่อง “ผ้าและการแต่งกายของชาวอุบลราชธานี”
วันที่ 16 มิถุนายน 2560 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จัดการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ผ้าและการแต่งกายของชาวอุบลราชธานี” โดยมี นายมีชัย แต้สุจริยา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักศิลปะและวัฒนธรรม นางสาวสุมนา ศรีชลาชัย ประธานวุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดอุบลราชธานี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย สมานชาติ อาจารย์คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินการเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุปิยา ทาปทา ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม และได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรางคณา วุฒิช่วย ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นประธานเปิดงาน พร้อมทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ ครู นักเรียน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตำบลหนองบ่อนำโดย อ.ประคอง บุญขจร เข้าร่วมงาน
ภายในงาน ยังมีการสาธิตการแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองของชาวอุบลราชธานี โดยนักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์และการละคร และสาขาวิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ทั้งนี้ เพื่อให้คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และประชาชนทั่วไป มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับผ้าและการแต่งกายของชาวอุบลราชธานีอย่างถูกต้อง
ภาพโดย S. Phormma's Colorizations
ศิลปินนำภาพเก่า หม่อมเจียงคำ มาลงสีใหม่ เหมือนจริงมาก
วิทยากรได้แสดงความเห็นสรุปได้ว่า ผ้าอุบลฯ มีชื่อเสียงและถูกยกย่องมาตั้งแต่อดีต ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่า ผ้าเยียรบับลาว และในสมัยรัชกาลที่ 5 หม่อมเจียงคำ ชายากรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ นับเป็นบุคคลต้นแบบ ในการอนุรักษ์การแต่งกายของอุบลฯ โดยท่านได้นุ่งผ้าซิ่นลายล่องและมีตีนซิ่น (ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะนุ่งซิ่นทิวไม่มีตีนซิ่น) นอกจากนี้ ยังมีผ้าที่สำคัญอีก เช่น ผ้าซิ่นมุก ผ้ายกดอกลายพิกุล ผ้าซิ่นทิว เป็นต้น สำหรับการแต่งกายของชาย โดยทั่วไปจะนุ่งโสร่งตาใหญ่ ไม่สวมเสื้อ แต่จะมีผ้าแพพาดบ่าหรือคาดพุง
การพัฒนาผ้าเมืองอุบลฯ ได้มีมาต่อเนื่องจนถึง พ.ศ.2543 ผู้ว่าฯศิวะ แสงมณี ได้มอบให้นายมีชัย แต้สุจริยา ไปออกแบบผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลฯ ท่านได้นำเทคนิคการทอโบราณ 4 ประเภท คือ มัดหมี่ มับไม ขิดและจก มาพัฒนาเป็น "ผ้ากาบบัว" และยังคงนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เอกลักษณ์ที่สำคัญโดยเฉพาะผ้าซิ่นที่มี 3 ส่วนคือ ส่วนหัวที่มีลายจกดาว ส่วนตัวที่เป็นลายล่อง และส่วนตีนซิ่นที่มีความกว้างประมาณนิ้วครึ่ง ปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ได้ให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลฯ สมาคมตัดเสื้อ ได้ออกแบบการแต่งกายด้วยผ้ากาบบัว และรณรงค์ให้แต่งกายด้วยผ้ากาบบัวอย่างแพร่หลาย