ม.อุบลฯ มอบปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และรางวัลรัตโนบล ปี 2557
ในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2556 ในวันอังคารที่ 2 ธันวาคม 2557 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่จะถีงนี้
สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์และรางวัลรัตโนบลแก่บุคคล องค์กรที่มีผลงาน และได้อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม และมหาวิทยาลัย จนปรากฏเป็นที่ประจักษ์ ได้เข้ารับพระราชทานในครั้งนี้ ประกอบด้วย ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา จำนวน 1 ราย และรางวัลรัตโนบล จำนวน 5 ราย และ 1 องค์กร ดังนี้
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา จำนวน 1 ราย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์ เป็นผู้ที่ทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ และอุทิศตนให้กับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องในทุกระดับ โดยมิได้เห็นแก่ความเหนื่อยยากหรือหวังผลตอบแทน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เปี่ยมพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม นับได้ว่าเป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีและน่ายกย่องอย่างยิ่ง โดยยึดถือแนวทางที่ว่า “พัฒนาการจัดการเรียนรู้เพื่อเด็กไทย ด้วยสายใยชาววิทยาศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี”
รางวัลรัตโนบล จำนวน 5 ราย และ 1 องค์กร
นายกว้าง รอบคอบ เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ท่านได้ร่วมกับชาวจังหวัดมุกดาหาร ในการวางแนวคิดที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นในจังหวัดมุกดาหาร เมื่อสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีมติเห็นชอบโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร ท่านได้ให้แนวคิดด้านการบริหาร และการกำหนดทิศทางของวิทยาเขตมุกดาหารไว้ โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนให้เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน โดยการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนราชการในจังหวัดมุกดาหาร สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และหน่วยงานในบังคับบัญชาทุกระดับ
ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เพื่อผลักดันการสร้างมหาวิทยาลัยให้สำเร็จลุล่วงตามแผน นอกจากนี้ ท่านยังเป็นประธานในการระดมทุนจากภาคธุรกิจ และประชาชนจังหวัดมุกดาหาร เพื่อก่อสร้าง “อาคารเรียนรวมใจ” ซึ่งเป็นอาคารเรียนชั่วคราวกึ่งถาวร และได้ประสานงานเพื่อจัดหาที่ดินในการก่อสร้างอาคารรวมใจ ณ ภูผาเจีย
รองศาสตราจารย์ภิยโย ปันยารชุน เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการสร้างหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาในการสร้างหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท-เอก) สาขาวิชาฟิสิกส์ ให้คำแนะนำทางวิชาการด้านการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการและบริการชุมชนที่เป็นประโยชน์แก่อาจารย์ในภาควิชาฟิสิกส์
ท่านมีส่วนสำคัญในการออกแบบ สร้างเครื่องมือ ชุดปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ประกอบไปด้วย ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ระดับกลาง ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ระดับสูง ให้คำแนะนำปรึกษา แก้ปัญหาทางวิชาการและทางเทคนิคในการออกแบบและสร้างห้องปฏิบัติการฟิล์มบาง ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ของแข็งและปลูกผลึก ในภาควิชาฟิสิกส์ ทำให้ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สามารถปลูกผลึกเดี่ยวของวัสดุเรืองแสง เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
เภสัชกรธีระ ฉกาจนโรดม เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในด้านพัฒนาการเรียนการสอนรายวิชาการตลาดยา ให้มีมาตรฐานและส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าใจในบทบาทหน้าที่จรรยาบรรณและจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ ให้คำชี้แนะ ถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีคุณค่า และความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา จนนักศึกษาได้รับรางวัลแผนการตลาดยาเพื่อสังคมจากสมาคมเภสัชกรการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง
ท่านยังมีส่วนร่วมและเป็นที่ปรึกษาที่สำคัญของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในด้านการพัฒนางานสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชนเพื่อให้บริการกับประชาชนและ เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพให้กับนักศึกษาเภสัชศาสตร์ จนได้รับการรับรองเป็นร้านยาคุณภาพจากสภาเภสัชกรรม ตลอดทั้งการเป็นที่ปรึกษาหน่วยผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ท่านได้ให้ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ในด้านการผลิตและการกระจายผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ได้เข้าเยี่ยมชม ศึกษา ดูงาน ในบริษัทและโรงงานผลิตยาที่ได้มาตรฐานสากล และเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานทั้งด้านเภสัชอุตสาหการและการตลาด ทำให้เกิดการพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพสืบต่อไป
นายวศิน คำรัตน์ เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยท่านได้บริจาคที่ดินให้แก่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อใช้เป็นทางเข้า ออก และเป็นพื้นที่ในการก่อสร้างอาคารเรียนรวมใจ รวมเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 19 ไร่ หากคิดมูลค่าที่ดินโดยไม่นับรวมค่าก่อสร้าง จะมีมูลค่าทั้งสิ้น 22,800,000 บาท การบริจาคที่ดินของท่าน ก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการต่อการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงภูมิภาคอินโดจีน เนื่องจากจังหวัดมุกดาหารมีเส้นทางเชื่อมโยงไปยังหลายประเทศ เช่น สปป.ลาว เวียดนาม และจีน เป็นต้น ผู้ที่มีฐานะยากจนสามารถศึกษาในพื้นที่ ก่อให้เกิดการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่ให้มีการศึกษาที่สูงขึ้น นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ชุมชน และส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาคเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมีบทบาทสำคัญด้านการให้ความรู้ในด้านการค้าปลีกสมัยใหม่แก่นักศึกษาคณะบริหารศาสตร์ และเป็นผู้ริเริ่มเสนอโครงการการจัดการศึกษาแบบการเรียนรู้จากการทำงาน ต่อคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งได้รับมอบหมายจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ประสานงานและรับผิดชอบโครงการ ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการส่งเสริมพัฒนาการจัดการศึกษา เป็นผู้จัดหาสถานที่ฝึกงาน ที่พัก โดยยกเว้นค่าเช่าหอพักให้กับนักศึกษา และเป็นผู้ผลักดันให้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษา
ผลจากการดำเนินการโครงการดังกล่าว มีผลตอบรับที่ดี ทำให้ผู้เรียนให้เกิดพัฒนาการทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เนื้อหาสาระ การฝึกปฏิบัติจริง ฝึกฝนทักษะทางสังคม ทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ การพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง เป็นผู้มีคุณภาพทั้งในเชิงวิชาการ มีความพร้อมในการทำงาน เป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้ นักศึกษายังมีรายได้จากการทำงาน โดยเฉพาะผู้มีฐานะยากจน ทำให้สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ นับจากปีการศึกษา 2556 นี้ ได้มีการรับผู้เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชา การตลาด (การจัดการธุรกิจค้าปลีก) นับเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งที่ 3 ของประเทศที่ดำเนินโครงการดังกล่าว
บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประเทศชาติเป็นอเนกประการ ดำเนินนโยบายอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศและสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยสนับสนุนโครงการเสริมสร้างอาชีพในรูปแบบกลุ่มเกษตรกรและโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมในจังหวัดต่างๆ ด้านสุขภาพและอนามัยผู้บริโภค โดยมีโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยมุ่งเน้นให้กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนของบริษัทจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีโครงการขยะแห้งแลกไข่สด และโครงการสนับสนุนการปลูกป่าชายเลนและป่าบก ด้านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การสนับสนุนกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาของนิสิตนักศึกษา ด้านกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์และกีฬา บริษัทเป็นผู้สนับสนุนหลักในกีฬาชุมชนตามเทศกาลแต่ละท้องถิ่น