พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ม.อุบลราชธานี ปีการศึกษา 2559
วันที่ 13 ธันวาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2559 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ปีการศึกษา 2559 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งในปีนี้มีบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรทั้งสิ้น จำนวน 3,074 คน แบ่งเป็น ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,916 คน ระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 158 คน และในโอกาสนี้ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มติอนุมัติ ผู้สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2559 ให้แก่บุคคลผู้มีผลงานทางวิชาการดีเด่นในสาขาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย หรือเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่มหาวิทยาลัย ประเทศชาติ หรือนานาชาติ จำนวน 2 คน ได้แก่
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ให้แก่ Professor lkuo Saiki
- แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ ให้แก่ รองศาสตราจาราย์ นายแพทย์ป่วน สุทธิพินิจธรรม
และผู้สมควรได้รับรางวัลรัตโนบล ประจำปี 2560 ให้แก่บุคคลหรือองค์กรผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในวิชาชีพ มีเกียรติคุณดีเด่นจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นผู้อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมและมหาวิทยาลัย และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป จำนวน 1 คน ประเภทบุคคลทั่วไป ให้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณปิยนาถ บุนนาค และประเภทนิติบุคคล องค์กร จำนวน 2 แห่ง ให้แก่ มูลนิธิจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์ และ บริษัท ไทยบริดจนสโตน จำกัด ซึ่งเข้ารับพระราชทานในครั้งนี้ด้วย
สำหรับความเป็นมาของ “รางวัลรัตโนบล” มาจาก ราชทินนามของอริยสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด สมจิตต์) คือผู้เคร่งครัดด้านวิปัสสนากรรมฐาน เป็นที่เคารพศรัทธา ของประชาชน ปฏิปทาและจริยาสมบัติ มีเมตตาจิตสูง มีวิริยะอุตสาหะและมีขันติธรรมอย่างแรงกล้า เป็นผู้คงแก่เรียน มีความรู้ดี ทั้งทางโลกและทางธรรม และพระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท) พระมหาเถระผู้โดดเด่นด้านความยุติธรรม ความถูกต้อง มีเมตตาธรรมสูง เป็นนักเผยแผ่อบรมเทศนาสั่งสอน รวมถึงการสอนหนังสือ การจัดการศึกษาและการบริหารคณะสงฆ์ มีคุณูปการเป็นที่เคารพสักการะของชาวอุบลราชธานี
ดังนั้น สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้นำสร้อยราชทินนาม “รัตโนบล” เพื่อเชิดชูเกียรติคุณ แก่ผู้ที่ประกอบคุณงามความดีจนเป็นที่ประจักษ์ สมควรแก่การยกย่อง ดังเช่น พระอริยสงฆ์ชาวอุบลราชธานีทั้งสองรูป ที่ได้กระทำความดีเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม
จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมรชกุมารี ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์จากชุมชนต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ผลงานและนวัตกรรมเทคโนโลยีของทางมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวาย “ผ้าซิ่นไหมยกดอกคำ-เมืองอุบลฯ 2560” เป็นผ้าไหมพื้นบ้าน หัวซิ่น ทอลายริ้วคั่น ลายขิดดอกแก้วสลับดาว ตัวซิ่น ทอลายล่องทางยางขนานลำตัว สลับริ้วลายสีเทากลีบดอกบัวอุบลฯ สีชมพู ทอยกดิ้นทองลายขิดดอกดาวน้อย สีสัน ใช้สีโทนชมพู-เทา-ขาว อันอ่อนหวาน ย้อมสีธรรมชาติจากครั่ง และเปลือกอะราง ตีนซิ่น ทอยกดิ้นทองลาย “ตีนเชิงช่อ” ออกแบบ สีสันโทนสีชมพูเพื่อใช้ในโอกาสงานมงคล จากฝีมือช่างทอผ้าอำเภอสำโรง และช่างเย็บอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ออกแบบและควบคุมการผลิตโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สิทธิชัย สมานชาติ อาจารย์ประจำคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รองศาสตราจารย์มันทนา สามารถ คณบดีคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวาย “ผ้าไหมมัดหมี่สีกลัก(สีอิฐเข้ม) ผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านอำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี
รองศาสตราจารย์ ดร.อริยาภรณ์ พงษ์รัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวายผลงาน ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการแปรรูป “งา” สำหรับพื้นที่ชุมชนวิทยาศาสตร์ จังหวัดอุบลราชธานี
นายแพทย์วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวาย “นวัตกรรมหญ้าดอกขาวเพื่อช่วยเลิกบุหรี่และบำรุงสุขภาพ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชริดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวายนวัตกรรมการนำเทคโนโลยีออกเมนเต็ดเรียลลิตี้ หรือ เออาร์ (Augmented Reality : AR) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับตราไปรษณียากรที่ระลึกชุด “ฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี” ตราไปรษณียากรชุดที่ยาวที่สุดในโลก
และ ดร.สมปอง เวฬุวนาธร อาจาราย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวายการนำเทคโนโลยีออกเมนเต็ดเรียลลิตี้ หรือ เออาร์ (Augmented Reality : AR) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับ “หนังสือประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ครั้งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี” ซึ่งทำให้สามารถมองเห็นภาพลายเทียนแบบ 3 มิติได้ โดยการดาวน์โหลดและติดตั้ง Google Play Store แล้วเปิดแอปพลิเคชันเพื่อใช้กล้องบนสมาร์ดโฟนส่องลงบนภาพลายเทียนในหนังสือที่มีสัญญาลักษณ์ “Ubon Candle AR Book” ก็จะปรากฎภาพลายเทียนสวยงามให้ชม
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2533 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก้าวเข้าสู่ปีที่ 28 แห่งการก่อตั้ง ภายใต้การบริหารงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยเปิดสอนหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท - เอก จำนวน 10 คณะ 1 วิทยาลัย มีนักศึกษาทั้งสิ้น จำนวน 15,000 คน บุคลากรสายวิชาการ และสายสนับสนุนจำนวน 1,500 คน และปัจจุบันมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกมารับใช้ประเทศชาติและสังคมรวมทั้งสิ้น จำนวน 32,328 คน
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ /ข่าว