อาจารย์ ม.อุบลฯ ผ่านเข้ารอบสุดท้าย คัดเลือกอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ปี 2559
ตามที่ คณะกรรมการจากที่ประชุมสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) กำหนดให้ สภาคณาจารย์และข้าราชการ ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ พิจารณาเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 แบ่งเป็น 5 สาขา คือ สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาสังคมศาสตร์ สาขามนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ และสาขารับใช้สังคม เสนอชื่อเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้พิจารณาเสนอชื่อ รศ.ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ เสนอต่อที่ประชุม ปอมท. สาขามนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ พร้อมได้รับการพิจารณา ผ่านเข้ารอบคัดเลือกรอบสุดท้าย ทั้งนี้ คณะกรรมการได้เดินทาง เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์และสัมภาษณ์บุคคลแวดล้อม ประกอบด้วย ผู้บริหาร เพื่อนร่วมงาน ศิษย์เก่า -ปัจจุบัน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 ณ ศูนย์การเรียนรู้แบบพึ่งตนเอง ชั้น 2 คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ
อาจารย์เมชฌ สอดส่องกฤษ เกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นชุมชนชาวเขมรถิ่นไทย จึงมีความรู้ภาษาเขมรถิ่นไทย เมื่อจบปริญญาตรีสาขาดนตรีไทย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็สอบเข้าศึกษาต่อสาขาภาษาศาสตร์ วิชาเอกเลือกภาษาเขมร ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ในปีสุดท้ายสอบได้ทุนพัฒนาอาจารย์ และบรรจุเข้ารับราชการที่สถาบันภาษาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในตำแหน่งอาจารย์สอนภาษาเขมร
ในปี 2543 ได้สอบชิงทุนรัฐบาลจีนร่วมกับกรมวิเทศสหการได้เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ และไปศึกษาต่อปริญญาเอกสาขาภาษาศาสตร์จีน ที่มหาวิทยาลัยครุศาสตร์หนานจิง ประเทศจีน ปี 2547 จบการศึกษาและกลับมาสานต่องานด้านศาสตร์จีน ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับผิดชอบงานสอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์ ภาษาจีน และภาษาเขมร ทำงานแบบบูรณาการสร้างสรรค์ผลงานศาสตร์จีนจำนวนมาก เช่น ชุดการศึกษาทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติศาสตร์ ชุดหนังสือ เรื่อง ภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ชุดการศึกษาเพื่อจัดทำฐานข้อมูลท้องถิ่นชาวไทยเชื้อสายจีนในภาคอีสานตอนล่าง หนังสือเรียนภาษาจีนสำหรับชาวไทย และหนังสือเรียนภาษาไทยสำหรับชาวจีน กว่า 10 ผลงาน เป็นต้น
นอกจากบทบาทของนักภาษาศาสตร์แล้ว อีกบทบาทหนึ่งของอาจารย์เมชฌ คือ “นักดนตรี” ภายหลังจากที่คร่ำเคร่งกับการสอนและการทำงานทั้งวัน หลังเลิกงานทุกเย็น มักจะได้ยินเสียงกู่เจิงบรรเลงเบาๆ มาจากห้องทำงานของอาจารย์ เสียงดนตรีไทยอ่อนหวานในทุกงานพิธี เสียงขับร้องเพลงไทยเสนาะหู ขับกล่อมชาวมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมานับทศวรรษ ยังมีผลงานทางวิชาการดนตรีอีกส่วนหนึ่งด้วย เช่น กันตรึม เพลงและดนตรีพื้นบ้านเขมรถิ่นไทย สารานุกรมดนตรีไทย-จีน ฉบับสองภาษาไทยและจีน - เพลงและดนตรีจีน บทความด้านเพลงและดนตรี กว่า 30 เรื่อง
ภาระการทำงานทางวิชาการ และบริหาร แต่งานที่สำคัญที่สุดคือ การสอนหนังสือ งานที่อาจารย์ทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย การแต่งตำรา หนังสือ การเขียนบทความวิชาการ งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และงานบริหาร จุดหมายปลายทางก็คือการถ่ายทอดความรู้ ผลจากการมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการภาษาจีนให้กับ ม.อุบลฯ มาอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาได้รับการอบรมสั่งสอน หล่อหลอมจนเปี่ยมด้วยคุณธรรมจริยธรรม ความขยัน อดทน มุ่งมั่น และมีความรู้ จนสำเร็จเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ นักศึกษาที่จบเอกภาษาจีนจาก ม.อุบล ประสบความสำเร็จหลากหลายอาชีพ บ้างเป็นครู เป็นล่าม นักแปล พนักงานบริษัทต่างๆส่วนที่ต้องการศึกษาต่อ อาจารย์เมชฌได้เขียนจดหมายแนะนำให้ทุกคน ปัจจุบันมีศิษย์เก่าเอกภาษาจีนศึกษาต่อที่ประเทศจีน ระดับปริญญาเอก 4 คน ส่วนที่สำเร็จการศึกษาและกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโทมากกว่า 20 คน และที่สำคัญ “ทุกคนได้รับทุนรัฐบาลจีน”
นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบุคลากร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ด้วยดีกรี ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ครุฑทองคำ ประจำปี 2558 รางวัลบุคลากรดีเด่น ม.อุบลฯ ประจำปี 2559 รางวัลศิษย์เก่าดีเด่น ม.เกษตรศาสตร์ ประจำปี 2559 ตลอดจนผลงานโดดเด่น ทั้งด้านการวิจัย การแต่งตำรา หนังสือ การเขียนบทความวิชาการนักดนตรี ร้องเล่นดนตรีไทย-จีน เป็นต้น สามารถเป็นต้นแบบที่ดีของบุคลากรทางการศึกษา ที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเทเสียสละอุทิศตน ต่อการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นำไปสู่การสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ แก่สังคมและประเทศต่อไป ร่วมส่งกำลังใจแด่ รศ.ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559”
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว