พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา 2562
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณีกิจแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2562 ครั้งที่ 29 ในวันพุธ ที่ 16 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วันนี้ เวลา 09.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2562 ครั้งที่ 29 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,801 ราย ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,704 ราย ระดับปริญญาโท จำนวน 77 ราย และระดับปริญญาเอก จำนวน 20 ราย
และในโอกาสนี้ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการปกครอง ประจำปีการศึกษา 2562 จำนวน 1 คน ให้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร เป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นอุทิศตนเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษชน มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนทั้งทางวิชาการและการนำหลักการไปปฏิบัติอันเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งในการเรียนการสอนวิชารัฐศาสตร์
และอนุมัติรางวัลรัตโนบล ประจำปี 2563 จำนวน 2 ราย ให้แก่ พระครูวิมลปัญญาคุณ (นพพร สู่เสน) เป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นด้านพลังงานแสงอาทิตย์ และสร้างคุณประโยชน์อุทิศตนเพื่อสังคมและประเทศชาติมาโดยตลอด และ นายปิยะทัศน์ ทัศนิยม เป็นผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในการใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ทำคุณประโยชน์ในการร่วมงานเพื่อพัฒนาสังคมและการพัฒนานักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประเทศชาติเป็นเอนกประการ รวมถึงการอุทิศตนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ประชาชนและสังคมมาโดยตลอดจนเป็นที่ประจักษ์ เข้ารับพระราชทานในครั้งนี้ด้วย
โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า... บัณฑิตทั้งหลาย จะได้นำวิชาความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการประกอบอาชีพการงานและการดำเนินชีวิต ข้าพเจ้าจึงใคร่จะกล่าวถึงเรื่องการนำความรู้ไปใช้ ให้ทุกท่านได้พิจารณา
การจะใช้ความรู้ให้ได้ผลเป็นประโยชน์จริงนั้น แต่ละคนต้องรู้จริง คือมีความรู้ในหลักวิชาหรือทฤษฎีอย่างถูกต้องแท้จริง เป็นเบื้องต้นก่อน ต่อจากนั้น ต้องนำทฤษฎีดังกล่าวมาฝึกฝนปฏิบัติอยู่เสมอ จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญชำนาญในการปฏิบัติขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้จักคิดพิจารณา ว่าจะนำความรู้ใด ไปใช้ปฏิบัติอย่างไร ให้ถูกต้อง คือไม่ให้ผิดพลาด ไม่ให้ทุจริต และให้เหมาะสม คือเหมาะแก่เวลา แก่สถานการณ์ แก่งานที่ทำ แก่บุคคล ตลอดจนเหตุผลแวดล้อมต่าง ๆ
จึงขอให้บัณฑิตพิจารณาให้เข้าใจชัด ว่าการนำความรู้ไปใช้นั้น ต้องประกอบพร้อมด้วยหลักวิชาอันหนักแน่น ความเชี่ยวชาญสามารถในการปฏิบัติ และวิจารณญาณอันถูกตรง จำเป็นที่แต่ละคนจะต้องหมั่นฝึกฝนพัฒนาตนเอง ให้มีปัจจัยดังกล่าวนั้นอย่างครบถ้วน จะได้สามารถนำวิชาความรู้ไปใช้ ให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์
และในปีนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวาย “ผ้ากาบบัวจกดาว” เป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
รองศาสตราจารย์สมหมาย ชินนาค อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ ทูลเกล้าถวาย “หนังสืองานวิจัย 3 เรื่อง ได้แก่ มรดกร่วมทางวัฒนธรรมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง, วิถีชีวิต การปรับตัว เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมข้ามชาติ และบทบาทในฐานะทูตทางวัฒนธรรมของพระนักศึกษาข้ามแดนชาวกัมพูชาในประเทศไทย และมิงกะลาบา เมืองอุบล ชุมชนข้ามถิ่นที่ชั่วคราวของแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าในพื้นที่ที่อยู่ไกลจากเส้นพรมแดนรัฐชาติ”
นายศักดิ์สิทธิ์ ศรีภา คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ทูลเกล้าถวาย หนังสือ “การใช้ยาอย่างสมเหตุผลในสูงอายุ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิชัย สมานชาติ อาจารย์คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทูลเกล้าถวายหนังสือ “มรดกภูมิปัญญาสิ่งทออีสาน”
และ พระครูวิมลปัญญาคุณ (นพพร สู่เสน) ผู้ได้รับรางวัลรัตโนบล ประจำปี 2563 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าถวายหนังสือ “โรงเรียนเสียดายแดด”
ในการดำเนินการที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดการเรียนการสอนมาแล้ว 30 ปี จัดการเรียนการสอนจำนวน 88 หลักสูตร มีนักศึกษารวมทั้งสิ้นจำนวน 15,666 คน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีพัธกิจในการสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง บริการวิชาการอย่างมีส่วนร่วมเพื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างความเข้าใจในวัฒนธรรมที่หลากหลายของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียนที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและนวัตกรรม ภายใต้ปรัชญา “มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างสติและปัญญาแก่สังคมบนพื้นฐานความพอเพียง”
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ข่าว/ภาพ ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา สำนักวิทยบริการ ม.อุบลฯ