ม.อุบลฯ จัด “งานวันเทคโนโลยีวิศวกรรม” ประจำปี 2563 En Tech Day 2020
วันที่ 30 มกราคม 2563 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัด “งานวันเทคโนโลยีวิศวกรรม ประจำปี 2563” En Tech Day 2020 ระหว่างวันที่ 30 – 31 มกราคม 2563 ณ อาคาร EN6 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนชาติด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานเปิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มงคล ปุษยตานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศด้านงานวิจัยและการประกวดสิ่งประดิษฐ์ และโครงงาน รวมถึงการแข่งขันทักษะทางวิศวกรรมของนักเรียนและนักศึกษา ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมตามแนวนโยบายรัฐบาลได้ดียิ่งขึ้น
เนื่องจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์ และมีผลงานวิจัยและบริการวิชาการต่าง ๆ ที่เป็นการมุ่งเน้นตอบสนองต่อการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งพิจารณาเห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะเชิงวิศวกรรม ซึ่งมีความสำคัญต่อการประเทศสู่ Thailand 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาควรเริ่มต้นที่เยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ นักวิจัยดีเด่น และนักวิจัยที่ได้รับรางวัลระดับชาติและระดับนานาชาติ
จากนั้น ได้เยี่ยมชมนิทรรศการการประกวดโครงงานและสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนและนักศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรมและจัดแสดงภายใน “งานวันเทคโนโลยีวิศวกรรม ประจำปี 2563” En Tech Day 2020 ครั้งนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มงคล ปุษยตานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การจัด “งานวันเทคโนโลยีวิศวกรรม ประจำปี 2563” En Tech Day 2020 ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และในปีนี้ได้กำหนดจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงาน ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการงานวิจัย และบริการวิชาการของอาจารย์ ด้านนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาในพื้นที่ โครงการส่งเสริมนวัตกรรมของคณะ ตลอดจนนักวิจัยดีเด่นและนักวิจัยที่ได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นิทรรศการผลงานภาครัฐและเอกชน
การประกวดโครงงานและสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียน นักศึกษา จำนวน 116 ผลงาน และมีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 105 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานประเภท โครงงานระดับก่อนอุดมศึกษา จำนวน 25 ผลงาน สิ่งประดิษฐ์ ระดับก่อนอุดมศึกษา จำนวน 25 ผลงาน สิ่งประดิษฐ์ ระดับอุดมศึกษา จำนวน 13 ผลงาน และโครงงานระดับอุดมศึกษา จำนวน 54 ผลงาน
และการแข่งขันทักษะเชิงวิศวกรรม จำนวน 128 ทีม ได้แก่ การแข่งขันหุ่นยนต์ควายตู้ จำนวน 18 ทีม การแข่งขันการออกแบบสะพานจำลอง จำนวน 52 ทีม และการแข่งขันจรวดขวดน้ำ ระดับมัธยมศึกษาต้นและมัธยมปลาย จำนวน 58 ทีม
สำหรับกิจกรรมบนเวทีกลางยังจัดให้มีการเสวนาทางวิชาการ ด้านพลังงานกับการขับเคลื่อนประเทศ และการเสวนาวิชาการจากผู้ประกอบการในพื้นที่ ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จและพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ และทางคณะยังเปิดให้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการของทุกภาควิชา การแนะแนวศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ซึ่งภายในงานยังมีการออกบูธรับสมัครงานจากบริษัทเอกชนที่มีชื่อเสียง ตลอดจนกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ ตลอดการจัดงานครั้งนี้ด้วย
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว