ม.อุบลฯ จัดสัปดาห์วิทยาศาสตร์ “วันนวัตกรรม นวัตกร และนักวิทยาศาสตร์ 2563”
วันที่ 18 สิงหาคม 2563 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2563 ในระหว่างวันที่ 18 – 19 สิงหาคม 2563 ณ อาคารวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้โครงการ “วันนวัตกรรม นวัตกร และนักวิทยาศาสตร์ 2563”
นายศุภกิตติ์ คำมณี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้แทนนักศึกษากล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดโครงการ และอัญเชิญพระบรมสาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปิดกรวยถวายสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เข้าร่วมพิธียืนถวายสักการะโดยพร้อมเพรียงกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2563 ครั้งนี้ เพื่อเป็นการการเฉลิมพระเกียรติและพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในฐานะที่ทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันได้มีความเจริญรุดหน้าไปอย่างมาก และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และเป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ด้วย
จากนั้น เป็นการมอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่มีผลงานดีเด่น ได้แก่
- ดร.อ้อฤทัย ใจบุญ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นประจำปีพุทธศักราช 2563
- รองศาสตราจารย์ ดร.มะลิวรรณ อมตธงไชย ได้รับรางวัลนักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติดีเด่น และได้รับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง ประจำปี 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กติกา สระมณีอินทร์ ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเพื่อชุมชนท้องถิ่นดีเด่น
- รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จึงสุทธิวงษ์ ได้รับรางวัลผลนักวิจัยผู้มีผลงานที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ ประจำปี 2563
- รองศาสตราจารย์ ดร.วรศักดิ์ สุขบท รองศาสตราจารย์ ดร.เชิดศักดิ์ บุตรจอมชัย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปุริม จารุจำรัส ได้รับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง ประจำปี 2563 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ
- รางวัลให้แก่ตัวแทนนักศึกษาสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ที่เข้าร่วมการประกวดและชนะการแข่งขันผลิตภัณฑ์ยางพาราและไม้ยางพาราระดับเขต ประจำปี 2563 อีสานตอนล่าง ประเภท ผลิตภัณฑ์ยางพาราอัตลักษณ์ ผลงานหมอนศรีลาวา และหมอนยางนา และได้สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยและคณะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับการจัดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ทางคณะวิทยาศาสตร์ได้กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่เนื่องจากในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทางคณะจึงได้จัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ในรูปแบบการจัดสัปดาห์วิทยาศาสตร์สัญจร เพื่อเป็นการลดความแออัดและจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายใน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนพิบูลมังสาหาร โรงเรียนเดชอุดม โรงเรียนกันทรารมณ์ ซึ่งได้จัดขึ้นเรียบร้อยแล้ว
โดยให้ทางโรงเรียนและนักเรียนที่สนใจ ส่งผลงานเข้าร่วมการแข่งส่งผลงาน และได้ประกาศผลการแข่งขันให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันส่งตัวแทนเข้ารับรางวัลในประเภทต่าง ๆ ได้แก่ การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ การแข่งขันกิจกรรมแข่งขันจรวดขวดน้ำ การประกวดโครงงานนวัตกรรมออนไลน์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น” การประกวดนวัตกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการประกวดคลิปวีดีโอ ระดับมัธยมศึกษา (แบบออนไลน์) ในส่วนของการจัดการแข่งขันออนไลน์ก็ได้ดำเนินการเรียนร้อยแล้ว และเชิญผู้ชนะการแข่งขันมารับรางวัลในวันนี้
ในส่วนของการจัดกิจกรรม ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ยังคงมีเหมือนเช่นทุกปี ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ และพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”
ตลอดจนการแข่งขันทางวิชาการเพื่อคัดเลือกผู้แทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าแข่งขันในระดับประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้แก่ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ การแข่งขันความสามารถด้านกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ การแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ และการแข่งขันวาดภาพจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของทางคณะในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้แก่นักเรียนในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทักษะปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีห้องเรียนพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการยกระดับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในศตวรรษที่ 21 ในการส่งเสริมความสามารถพิเศษของการเรียน เพื่อเป็นนักนวัตกร นักวิทยาศาสตร์ในอนาคตต่อไป
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว