อุบลฯ จัดงานวันเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำ ประจำปี 2563
วันที่ 20 ตุลาคม 2563 นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีจัดงานวันเชิดชูเกียรติและรำลึกหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ประจำปี 2563 ที่บริเวณหน้าวัดสุทัศนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับเครือข่ายแห่งบุญหม่อมเจียงคำอนุสรณ์ ส่วนราชการ สถานศึกษา ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีบูชาพระคุณ ในวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรม ในวันที่ 20 ตุลาคมของทุกปี โดยในปีนี้เป็นปีที่ 13 กิจกรรมประกอบด้วย การทำบุญเลี้ยงพระ การฟ้อนเชิดชูเกียรติ ลำกลอนเชิดชูเกียรติ พิธีวางขันหมากเบ็ง และกล่าวเชิดชูเกียรติ และพิธีเปิดป้ายถนนหม่อมเจียงคำ ตามที่จังหวัดอุบลราชธานีเห็นชอบในการเปลี่ยนชื่อถนนพโลรังฤทธิ์ บริเวณหน้าวัดสุทัศนาราม ถึงแยกศาลแขวงอุบลราชธานี เป็นถนนหม่อมเจียงคำ
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เป็นสะใภ้หลวงในกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยุค ร.ศ.112 ได้รับพระกรุณาโปรดกล้าพระราชทานครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ) ฝ่ายในเมื่อ พ.ศ.2455
ชาติกำเนิดของหม่อมเจียงคำ ขุมพล ณ อยุธยา สืบเชื้อสายมาจากบรรพชนที่มีประวัติไว้ คือ เจ้าปางคำ ผู้ครองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลุ่มภู) อยู่ในลำดับเครือญาติชั้นที่ 7 เป็นธิดาของท้าวสุรินทร์ชมพู (หมั้น) กับนางดวงจันทร์ เป็นหลานท้าวสุ่ย ราชบุตรเมืองอุบลราชธานี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงดำเนินการปรับปรุงประเทศ ทั้งในส่วนกลางและหัวเมือง โดยเฉพาะหัวเมืองล่างฝ่ายตะวันออก ได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ มาประทับที่เมืองอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.2434
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงพอพระทัย นางเจียงคำ ธิดาท้าวสุรินทร์ชมพู จึงขอมาเป็นชายาต่อญาติผู้ใหญ่ คือพระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) พร้อมด้วยญาติผู้ใหญ่ มีความยินดี จึงอนุญาตนางเจียงคำเป็นพระชายา ทรงมีโอรสร่วมกัน 2 องค์ คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาน ชุมพล และหม่อมเจ้า กมลีสาน ชุมพล
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เป็นผู้เสียสละพื้นที่ดินเป็นทรัพย์สมบัติที่ล้ำค่าของตนและคณะญาติ มอบให้เป็นมรดกของชาวอุบลราชธานี ได้แก่
แปลงที่ 1 เป็นที่ตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธนี
แปลงที่ 2 เป็นที่ตั้งสำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี
แปลงที่ 3 เป็นบริเวณทุ่งศรีเมือง และโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี (เดิมเป็นโรงเรียนนารีนุกูล)
แปลงที่ 4 บริเวณที่ตั้งศาลจังหวัดอุบลราชธานี ศาลแขวงอุบลราชธานี และบริเวณบ้านพักผู้พิพากษา
แปลงที่ 5 เป็นบริเวณที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
แปลงที่ 6 เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหลังเดิม อยู่ด้านทิศตะวันตกของทุ่งศรีเมือง (ก่อนตั้งศลากลางหลังเดิม) เป็นที่ตั้งโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชหลังเดิม และมีเสาธงขนาดใหญ่
แปลงที่ 7 เป็นที่ดินที่ทำนได้มอบเป็นมรดกของโอรส 2 พระองค์ ซึ่งต่อมา โอรสได้มอบให้ทางราชการ เมื่อ พ.ศ.2475 ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค้ อุบลราชธานี
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้รับการถ่ายทอดการประพฤติปฏิบัติตนของบรรพชนมาเป็นอย่างดี ได้แก่ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ความคารพความกตัญญู ความซื่อสัตย์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมีน้ำใจ ความสง่างาม ความเป็นผู้ดี และวิถีความเป็นแม่ในการเลี้ยงดูบุตรหลาน ผ่านการแสดงออกทางกิริยาท่าทางในลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม คือ วรรณกรรมพื้นบ้านและภาพศิลปะการแสดง แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และงานเทศกาล ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล งานช่างฝีมือดั้งเดิม การละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว จนกลายเป็นมรดกของกุลสตรีเมืองอุบลราชธานีตราบมาเท่าทุกวันนี้
หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้ปฏิบัติหน้าที่พระชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ด้วยความรัก ความชื่อสัตย์ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสาธารณชน
เมื่อพระเจ้าบรมวศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จนิวัตรกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2453 หม่อมเจียงคำ ได้ตามเสด็จด้วย และเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ สิ้นพระชนม์ หม่อมเจียงคำ จึงกลับประทับที่วังสงัด เมืองอุบลราชธานี/ จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2481
จังหวัดอุบลราชธานี จึงงานวันเชิดชูเกียรติและรำลึก เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ในวันที่ 20 ตุลาคมของทุกปี โดยในปีนี้เป็นปีที่ 13
อัลบั้มภาพ https://www.facebook.com/129977483745118/posts/3342438135832354/