พิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2564
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2564 ครั้งที่ 31 ในวันพฤหัสบดี ที่ 22 ธันวาคม 2565 เวลา 12.50 น. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
วันนี้ เวลา 09.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2564 ครั้งที่ 31 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ในปีนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,842 ราย ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,748 ราย ระดับปริญญาโท จำนวน 66 ราย และระดับปริญญาเอก จำนวน 24 ราย
และในโอกาสนี้ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์ ประจำปี 2565 ให้แก่บุคคลผู้ที่มีผลงานทางวิชาการดีเด่นในสาขาที่มีการสอนในมหาวิทยาลัย ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่มหาวิทยาลัยหรือประเทศชาติหรือนานาชาติ สมควรได้รับการยกย่องเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นเจริญรอยตาม ผลงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางอันส่งผลดีต่อการพัฒนาองค์ความรู้ขององค์กร สังคมประเทศชาติหรือนานาชาติ จำนวน 3 ราย ได้แก่
- ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา
- รองศาสตราจารย์พิเศษกฤษฎา เสกตระกูล ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการเงินและการลงทุน และ
- รองศาสตราจารย์ดรุณี รุจกรกานต์ ปริญญาพยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์
และอนุมัติรางวัลรัตโนบล ประจำปี 2565 ให้แก่บุคคลที่มีผลงานทางวิชาชีพที่มีคุณภาพอันเป็นที่ยอมรับของชุมชนสังคม ประเทศชาติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีคุณงามความดีที่ได้รับการยกย่องในระดับชาติหรือนานาชาติ อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและมีความประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป จำนวน 1 ราย ได้แก่ รองศาสตราจารย์สุมนต์ สกลไชย ที่เข้ารับพระราชทานในครั้งนี้ด้วย
โอกาสนี้ พระราชทานพระราโชวาท ความสำคัญตอนหนึ่งว่า... ปริญญาบัตรที่บัณฑิตได้รับในวันนี้ เป็นสิ่งที่มีความหมายและมีความสำคัญมาก เพราะเป็นเครื่องรับรองวิทยฐานะของแต่ละคน ว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในวิชาการสาขาต่าง ๆ ตามที่ได้อุตสาหะศึกษาเล่าเรียนมา และพร้อมที่จะนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้น ไปใช้ประกอบกิจการงานสร้างสรรค์ประโยชน์
ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะกล่าวถึงเรื่องการทำงาน ให้ทุกท่านได้พิจารณาสัก 2 ประการ. ประการแรก การตั้งเป้าหมาย ขอบเขต และหลักการทำงานไว้ให้แน่นอน จะช่วยให้สามารถปฏิบัติงานให้มุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรง เป็นการป้องกันและขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่า ได้อย่างมาก ประการที่ 2 ในการทำงานนั้น อาจมีอุปสรรคปัญหาเกิดขึ้นบ้าง ยากที่จะหลีกเลี่ยงพ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ช่วยฝึกฝนขัดเกลาความรู้ ความสามารถของคนเราได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ไม่ว่าจะทำงานใด แต่ละคนจึงควรตั้งเป้าหมายและวิธีปฏิบัติให้แน่ชัด แล้วดำเนินการอย่างเหมาะสมถูกต้องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย. หากมีอุปสรรค ปัญหาใด ๆ เกิดขึ้น ก็พึงระลึกไว้เสมอว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการทำงาน ควรที่จะตั้งสติให้มั่นคง ใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาอย่างรอบคอบและรอบด้าน แล้วเร่งปฏิบัติแก้ไขให้ถูกต้องตรงจุด งานที่ทำก็จะดำเนินลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสำเร็จผลสมบูรณ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้. จึงขอให้บัณฑิตนำสิ่งที่พูดนี้ไปเป็นข้อคิดและแนวปฏิบัติ จะได้สามารถประกอบกิจการงาน สร้างสรรค์ความสำเร็จและความเจริญมั่นคง ให้แก่ตนเอง สังคม และชาติบ้านเมืองได้ สมดังความหมายและความสำคัญของปริญญา
จากนั้น เสด็จไปยังบริเวณโถงอาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เพื่อให้นักศึกษาทุนพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าเฝ้าฯ จำนวน 8 ราย และฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงาน จำนวน 2 ชุด เสด็จห้องจัดแสดงผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและชุมชน (OTOP) เพื่อทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและชุมชน (OTOP)
และในปีนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าฯ ถวาย “ผ้ากาบบัวจกดาว” รองศาสตราจารย์สมหมาย ชินนาค อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือเรื่อง “คำเพียร ชินนาค ชีวิตและบทบาทของผู้หญิงชนบทในครอบครัวเขมรสุรินทร์” นายสุทธินันท์ ศรีอ่อน อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือเรื่อง “ปกิณกะอีสานพินิจ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุชนาพร พิจารณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย “หมอนอิงผ้าฝ้ายพิมพ์ลายไม้” นายณรงค์ฤทธิ์ กองพงษ์ ผู้แทนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ทูลเกล้าฯ ถวาย “ผ้าซิ่นไหมเข็นมือหางกระรอก” นายอรุณศักดิ์ กำจร ผู้แทนองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าฯ ถวาย “ผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ ลายโฮล” และผลิตภัณฑ์จากตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี
ในการดำเนินการที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดการเรียนการสอนมาแล้ว 32 ปี จัดการเรียนการสอนจำนวน 77 หลักสูตร มีนักศึกษารวมทั้งสิ้นจำนวน 16,651 คน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีพันธกิจในการสร้างบัณฑิตที่มีทักษะสูงของแต่ละวิชาชีพเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม รวมทั้งการมีทักษะเป็นผู้ประกอบการ สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับสังคมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีผ่านการบริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ สังคมและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอีสานใต้อย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม ภายใต้ปรัชญา “มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสร้างสติและปัญญาแก่สังคมบนพื้นฐานความพอเพียง”
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ข่าว/ภาพ ฝ่ายบันทึกภาพ พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2564