พิธีวางพวงมาลา งานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลฯ ปี 2565
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลา “งานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี 11 พฤศจิกายน ประจำปี 2565” พร้อมด้วยนางพัทธานันท์ ยังตรง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ร่วมงานวันรำลึกแห่งความดีชาวอุบลราชธานี ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี ซึ่งเป็นการจัดงานปีที่ 17 ติดต่อกัน
การจัดงานนี้ มีขึ้นเพื่อเป็นการขอบคุณ และรําลึกถึงคุณงามความดีของชาวอุบลราชธานี ที่มีส่วนให้การช่วยเหลือทหารนานาชาติ ที่ถูกจับให้เป็นเฉลยศึกสงครามที่อุบลราชธานี เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี ค.ศ.1945 โดยกำหนดให้วันที่ 11 เดือน 11 เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เป็นเวลาของการจัดงาน
สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย พิธีเชิญธงชาติฝ่ายสัมพันธมิตร 19 ชาติ ขึ้นสู่ยอดเสา พิธีวางพวงมาลา การจุดคบไฟรำลึกถึงวีรชน ผู้แทนชาวต่างชาติกล่าวขอบคุณชาวอุบลราชธานี ผู้มีพระคุณต่อเชลยศึก แสดงความขอบคุณต่อตัวแทนชาวอุบลราชธานี พร้อมมอบของที่ระลึก (ดอกไม้) ให้แก่ Lady of Ubonและการร่วมร้องเพลงสามัคคีชุมนุม หรือเพลง Auld Lang Syne ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรม
สำหรับอนุสรณ์สถานรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ตั้งอยู่ ณ บริเวณทุ่งศรีเมืองแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง สถาปนิกผู้ออกแบบและลงมือก่อสร้าง คือ บรรดาเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นควบคุมตัวมาจากค่ายเชลยศึกที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เพื่อสร้างสนามบินให้กับ กองทัพญี่ปุ่นที่จังหวัดอุบลราชธานี
การสร้างสนามบิน เป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่เหล่าเชลยศึกต้องทำงานอย่างหนัก ท่ามกลางเปลวแดดที่ร้อนระอุ ในสภาพที่เนื้อตัวแทบเปลือยเปล่า สวมใส่เฉพาะกางเกงขาสั้น กางเกงใน หรือ “ผ้าเตี่ยว” เพื่อปกปิดร่างกาย ตอนกลางคืนต้องนอนในค่ายที่พักที่มีสภาพแออัด ยัดเยียดในสภาพไหล่ชนไหล่ อาหารการกินฝืดเคือง มีเพียงพอประทังชีวิตไปวันวัน
ความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสของเหล่าเชลยศึก เป็นที่รับรู้ของชาวอุบลราชธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอุบลฯ ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่ได้พบเห็นเชลยศึกถูกควบคุมตัวไปอาบน้ำหลังเลิกงานเป็นประจำทุกวัน
จากสภาพร่างกายที่ผอมโซ และท่าทีที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการทำงานหนัก เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ชาวอุบลฯ จำนวนหนึ่งได้แอบนำข้าวปลาอาหาร ผลไม้ และของกินต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้ ให้แก่เชลยศึกด้วยวิธีการต่าง ๆ เท่าที่จังหวะเวลา และโอกาสจะอำนวย ท่ามกลางการห้ามปรามและขัดขวางจาก ทหารญี่ปุ่น บางคนถูกข่มขู่และถูกทำร้ายก็มี แต่ชาวอุบลฯ ก็ไม่ลดละที่จะแอบช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส
หลังสงครามสงบ เชลยศึกจำนวนหนึ่งได้เรี่ยไรเงินกันสร้างสิ่งที่ระลึก ซึ่งชาวบ้านเรียก “เสาหิน” บ้าง “แท่งหิน” บ้าง เพราะไม่รู้ว่าผู้สร้างเรียกว่าอะไร และสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด
ประมาณปี พุทธศักราช 2514 ทหารอากาศออสเตรเลียที่มาร่วมรบในสงครามเวียดนาม และมีฐานปฏิบัติการที่สนามบินอุบลราชธานี จำนวนประมาณหนึ่งกองร้อย ในชุดเครื่องแบบเต็มยศ ได้เดินแถวมายังหน้าอนุสรณ์สถานแห่งนี้ ทำความเคารพพร้อมกัน และวางพวงมาลา หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีพิธีกรรมใดๆ อีกเลย
จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2549 (ค.ศ.2006) ชาวอังกฤษและคณะจำนวนหนึ่ง ที่ทำงานอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้เดินทางไปยังทุ่งศรีเมือง พร้อมทั้งได้เปิดเผยผลการสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับเชลยศึกสงครามโลกครั้งที่สองที่อุบลราชธานี พวกเขาเรียกชื่ออนุสรณ์สถานแห่งนี้ว่า “The Monument of Merit” ซึ่งแปลว่า “อนุสาวรีย์แห่งความดี”
และได้เสนอว่า ควรจะมีพิธีการรำลึกอนุสาวรีย์แห่งความดี เป็นประจำทุกปี โดยเทียบเคียงกับวันสำคัญของโลก คือ “Remembrance Day” ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือน 11 จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้กำหนดให้วันที่ 11 เดือน 11 ของทุกปี เป็นวันจัดงานรำลึกความดีของบรรพชนอุบลราชธานี ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน