guideubon

 

 

2 นศ.ราชภัฏอุบลฯ ชาวกัมพูชา ทุนพระราชทานกรมสมเด็จพระเทพฯ ว่าที่บัณฑิตเกียรตินิยม

UBRU-กัมพูชา-เกียรตินิยม-01.jpg

วันที่ 1 เมษายน 2566 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุขของเหล่าบัณฑิตและญาติๆ ที่มาร่วมแสดงความยินดีในโอกาสสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยวันนี้มีการถ่ายรูปหมู่บัณฑิตและคณาจารย์ ก่อนจะเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรในโอกาสต่อไป มี 2 นักศึกษาชาวกัมพูชา ที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน จากกรมสมเด็จพระเทพฯ สำเร็จการศึกษาในรุ่นนี้ และจะได้เป็นว่าที่บัณฑิตเกียรตินิยม หอบความสำเร็จกลับบ้านเกิดด้วย

UBRU-กัมพูชา-เกียรตินิยม-04.jpg

สำหรับโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นพระราชปณิธานของสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เยาวชนกัมพูชา เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 การดำเนินโครงการที่ผ่านมาได้สร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา เกิดการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่ได้รับทุนพระราชทานกลับไปพัฒนาประเทศ ซึ่งทุนพระราชทานฯ เป็นเสมือนสัญลักษณ์สำคัญ สะท้อนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและเป็นมิตร ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมส่วนรวมระหว่างไทยกับกัมพูชา

UBRU-กัมพูชา-เกียรตินิยม-03.jpg

Mr. TOLA BUTH หรือ “ตุลา” นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ และ Miss NITA SOME หรือ “นิตา” นักศึกษาสาขาวิชาสาธารณสุขชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ เป็น 2 นักศึกษาจากประเทศกัมพูชา ที่ได้รับทุนโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กำลังจะสำเร็จการศึกษา และเป็นว่าที่บัณฑิตเกียรตินิยม ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.97 และ 3.63 ตามลำดับ

นักศึกษาทุนพระราชทานทั้งสองคน กล่าวว่า การที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทยนั้น เป็นที่ยอมรับอย่างมากในประเทศของตน กว่าจะได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ต้องผ่านด่านทดสอบความสามารถ ความขยัน และความอดทน ต้องอ่านหนังสืออย่างหนัก เพื่อสอบชิงทุนพระราชทานฯ โดยในปี พ.ศ.2560 มีผู้เข้าร่วมการสอบชิงทุนพระราชทานฯ มากถึง 5,000 คน และทั้งสองคนก็สามารถสอบชิงทุนการศึกษาฯ สำเร็จ ได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ประเทศไทย ในปีการศึกษา พ.ศ.2562 โดยกำลังจะสำเร็จการศึกษา และเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้

“ตุลา” กล่าวว่า ตนสูญเสียพ่อซึ่งเป็นเสาหลักของบ้านได้หลายปีแล้ว ตอนนี้อยู่กับตา-ยาย และแม่ ตนเป็นลูกคนเดียว ย่อมเป็นที่คาดหวังของครอบครัว เลยตั้งใจที่จะสืบทอดอาชีพของครอบครัว คือ เกษตรกร ตั้งใจที่ศึกษาด้านการเกษตรควบคู่กับเทคโนโลยี เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือกในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพต่าง ๆ รวมถึงการเกษตร จึงเลือกที่จะเรียนทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และโอกาสนั้นก็มาถึง เมื่อมีประกาศเปิดรับสมัครสอบชิงทุนโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

UBRU-กัมพูชา-เกียรตินิยม-06.jpg

“ตุลา” ยังจดจำความรู้สึกได้ดีว่า ตอนสอบที่ว่าตื่นเต้นแล้ว ก็ยังไม่สู้ตอนที่ทราบผลว่า ตนเป็น 1 ใน 2 คน ที่สอบผ่านได้รับทุนพระราชทาน ฯ มาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ประเทศไทย “ผมรู้สึกดีใจมาก ๆ รู้สึกภูมิใจในตัวเอง ซึ่งในขณะเดียวกัน ก็รู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้มาเรียนต่างประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ต้องออกมาอาศัยอยู่นอกบ้าน” สำหรับตนเองแล้วมันเป็นระยะทางที่ไกลจากบ้านเกิดมาก

แม้จะมีความกังวลอยู่บ้าง แต่ก็บอกกับตนตัวเองว่าไม่เป็นไร เราเป็นคนเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสิ่งต่าง ๆ ได้เร็ว ตอนที่มาถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ก็มีพี่ ๆ ที่มาศึกษาอยู่ก่อน และพี่ ๆ จากงานวิเทศสัมพันธ์ คอยให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกกับนักศึกษาต่างชาติ เริ่มแรกด้วยหลักสูตรพื้นฐานของนักศึกษาต่างชาติต้องการเรียนรู้ภาษาไทยพื้นฐานเพื่อการสื่อสารในการใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทยได้ อีกอย่างไทยกับกัมพูชามีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเหมือนกัน

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับตุลา คือ “การสื่อสาร” ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อน ๆ คนอื่นที่ยังไม่ได้เรียนภาษาไทย ก็สามารถใช้ภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากล สื่อสารกับอาจารย์และเพื่อน ๆ คนไทยได้ แต่สำหรับตุลาแล้ว รู้สึกหนักใจมาก ๆ เพราะไม่เก่งภาษาอังกฤษเอาซะเลย มาเจอภาษาไทยที่มีพยัญชนะมากมาย มีสระ วรรณยุกต์ มีคำควบกล้ำ มีคำที่คล้ายกัน ๆ แต่ละความหมาย ที่มารู้ทีหลังว่าคือคำพ้องเสียง นี่ยังไม่รวมถึงคำเปรียบเปรย และภาษาไทยแต่ละภาคอีก เล่นเอาปวดหัวมาก ๆ เลยต้องขอความช่วยเหลือจากรุ่นพี่นักศึกษาชาวกัมพูชาตลอด ต้องเกาะติดอยู่กับพี่ ๆ อยู่นานพอสมควรเลย

UBRU-กัมพูชา-เกียรตินิยม-07.jpg

ตุลาบอกว่า “หลังจากเรียนจบแล้วจะนำเอาความรู้ความสามารถที่ได้เรียนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ไปช่วยพัฒนาประเทศของผมตามที่ตัวเองพอจะช่วยได้ และจะนำเอาแนวคิดรวมทั้งเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในด้านการเกษตรต่อไป”

UBRU-กัมพูชา-เกียรตินิยม-08.jpg

ทางด้าน “นิตา” กล่าวว่า ความรู้สึกเหมือนกับ “ตุลา” เลยค่ะ ดีใจมาก ๆ จนต้องไปแอบกรี๊ดคนเดียวเลย และอีกอย่างที่ทำให้ดีใจสุด ๆ คือการมาเรียนที่ประเทศไทย ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งมีการรับนักศึกษาทุนพระราชทานโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ฯ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 จนถึงปัจจุบัน

พอเข้ามาเรียนจริง ๆ ยังได้ทราบมีการจัดตั้ง “ชมรมนักเรียนกัมพูชา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี” ซึ่งมีพี่ ๆ ในชมรมคอยเป็นพี่เลี้ยงดูแลให้คำปรึกษากับนักศึกษาใหม่ที่มาจากกัมพูชา ทำให้มีความรู้สึกว่าได้รับความอบอุ่น และช่วยลดความกังวลใจในการมาอยู่ต่างแดนห่างไกลจากครอบครัว

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับนิตา คือ การเรียนเกี่ยวกับ “อนาโตมี” เพราะเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับสาขาวิชาที่เรียน ต้องจดจำอวัยวะทุกส่วนของร่างกายมนุษย์ให้ได้ เพื่อนำไปประกอบการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ต้องอ่านหนังสืออย่างหนัก และศึกษาเพิ่มเติมจากโซเชียลต่าง ๆ รวมทั้งปรึกษาและขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากอาจารย์ผู้สอน แต่เรื่องภาษาเป็นสิ่งที่ชอบเรียนรู้อยู่แล้วจึงไม่เป็นปัญหาเลย

UBRU-กัมพูชา-เกียรตินิยม-09.jpg

นอกจากภาษากัมพูชาแล้ว “นิตา” ยังพูดได้อีก 3 ภาษา คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และกำลังสนุกไปกับการเรียนรู้ภาษาไทยมาก ๆ ด้วยความชอบด้านภาษา ชอบการท่องเที่ยว ด้วยความชอบที่หลากหลายเลยแพลนอนาคตไว้ว่าหากเรียนจบแล้วก็อยากจะเป็นไกด์นำเที่ยวก่อนสักปีสองปี หาประสบการณ์และเพิ่มสีสันให้กับชีวิต ก่อนที่จะสอบบรรจุเข้ารับราชการในสายงานด้านสาธารณสุขตามที่มาศึกษาเล่าเรียน

อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังเรียนอยู่ที่ประเทศไทยและน้อง ๆ ที่กำลังจะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีในอนาคต อยากให้น้อง ๆ ค้นหาตัวตันของตัวเองให้เจอ มีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วมุ่งมั่นทำมันให้ดีที่สุด พร้อมกับฝากข้อคิดสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งว่า “ไม่มีอะไรเกินความสามารถ ถ้าเราพยายามมากพอ”

UBRU-กัมพูชา-เกียรตินิยม-05.jpg

ทั้ง “ตุลา” และ “นิตา” ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานโอกาสทางการศึกษาแก่ชาวกัมพูชา และขอขอบคุณประเทศไทย ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้แก่ชาวกัมพูชามาอย่างต่อเนื่อง

 

ข่าว : นันทิชา วิปุละ
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511