guideubon

 

 

ศาลปกครองอุบลฯ เพิกถอนคำสั่งอนุญาโตฯ คดีสร้างหอพัก นศ. ม.อุบลฯ

หอพักนักศึกษา-ม-อุบล-01.jpg

วันที่ 29 กันยายน 2560 ศาลปกครองจังหวัดอุบลราชธานี พิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ที่ให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชำระเงินค่าหอพักนักศึกษา กว่าสองร้อยล้านบาท ให้แก่บริษัทกำจรกิจก่อสร้าง จำกัด 

คดีนี้ สืบเนื่องจาก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ศาสตราจารย์ประกอบ วิโรจนกูฏ อดีตอธิการบดี ได้ทำสัญญากับ บริษัท กำจรกิจก่อสร้าง จำกัด เพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างหอพักนักศึกษา โดยยกกรรมสิทธิ์ให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บริหารจัดการเก็บผลประโยชน์ สัญญาเลขที่ ม.อบ.๐๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘ โดยมีข้อตกลง ผ่อนชำระคืนเงินทุนในแต่ละเดือน รวมระยะเวลา ๒๕ ปี (หรือ ๓๐๐ เดือน) รวมเงินที่มหาวิทยาลัยต้องผ่อนชำระคืนให้บริษัท จำนวน ๖๘๙,๔๑๐,๗๑๔ บาท โดยแยกเป็นเงินต้น จำนวน ๒๖๕,๘๙๙,๘๗๔.๒๘ บาท และดอกเบี้ย อีกจำนวน ๔๒๓,๕๑๐,๘๓๙.๗๒ บาท

หลังจากนั้น วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๘ บริษัท กำจรกิจก่อสร้าง จำกัด ได้ทำสัญญาโอนสิทธิรับเงินตามสัญญาก่อสร้างทั้งหมดให้กับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารได้มีหนังสือแจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบถึงการโอนสิทธิรับเงินดังกล่าว

หอพักนักศึกษา-ม-อุบล-02.jpg

ต่อมาวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๔ บริษัทกำจรกิจฯ ได้ยื่นข้อเสนอต่อรองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีปัจจุบัน ขายคืนหอพักทั้งโครงการให้มหาวิทยาลัยในวงเงิน ๒๖๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท

มหาวิทยาลัย โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย จึงแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคา และขอความอนุเคราะห์สำนักงานโยธิการจังหวัด และผังเมืองจังหวัดอุบลราชธานี ประเมินราคากลาง ในระหว่างเจรจาคณะกรรมการพบว่า บริษัทกำจรกิจฯ ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องการรับเงินไปให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) แล้ว จึงให้ธนาคารมีหนังสือยืนยัน และหันไปเจรจากับธนาคาร ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตัวจริง จนกระทั่งได้ข้อยุติการชำระหนี้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจำนวน ๑๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเสนอสภามหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติ

จากนั้น มหาวิทยาลัยได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้ธนาคาร แต่บริษัทกำจรกิจฯ กลับอ้างข้อกำหนดในสัญญา เสนอให้ระงับข้อพิพาทเรื่องการชำระหนี้ เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

ต่อมา วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ (ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษประจักษ์ พุทธิสมบัติ ประธานกรรมการ นายชัยรัตน์ ธรรมพีระ และนายสุเมธ ชัยช่วงโชติ กรรมการ) มีคำชี้ขาดหมายเลขดำที่ ๙/๒๕๕๗ หมายเลขแดงที่ ๓๙/๒๕๕๗ ระหว่างบริษัท กำจรกิจก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้อง กับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้คัดค้าน ให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชำระเงินค่าก่อสร้างหอพักนักศึกษา จำนวน ๔ หลัง ตามสัญญาเลขที่ ม.อบ.๐๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ แก่บริษัท กำจรกิจก่อสร้าง จำกัด จำนวนที่ผิดนัดเป็นเงิน ๑๔,๓๑๒,๕๖๘ บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๖ ต่อปี โดยแบ่งคิดดอกเบี้ยตามงวดที่ผิดนัดแต่ละงวดเริ่มแต่งวดปีที่ ๕/๑๑ (งวดสิ้นเดือนเมษายน ๒๕๕๔) จนถึงงวดปีที่ ๖/๖ (งวดสิ้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔) รวม ๘ งวด จนกว่าจะชำระเสร็จแต่ละงวด กับชำระเงินจำนวน ๒๕๙,๔๓๓,๓๙๖.๑๙ บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๖ ต่อปี นับแต่วันเสนอข้อพิพาท (๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕) จนกว่าชำระเสร็จ

หอพักนักศึกษา-ม-อุบล-03.jpg

มหาวิทยาลัยเห็นว่า คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ฝ่าฝืนต่อหลักกฎหมายพื้นฐานของประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นส่วนราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ถือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองอุบลราชธานี เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๐ วรรคสาม (๒)

เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ ศาลปกครองอุบลราชธานีมีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ ๗๒๖/๒๕๖๐ ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว โดยพิพากษาสรุปความว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และบริษัท กำจรกิจก่อสร้าง จำกัด มีหนี้ที่จะต้องการปฏิบัติการชำระต่อกัน โดยบริษัท กำจรกิจก่อสร้าง จำกัด จะต้องทำการก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษา ตามแบบรูปรายการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่สัญญาระบุเสียก่อน ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีสิทธิให้บริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด ปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๙๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจะต้องทำการจัดสรรแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนที่จัดเก็บได้จากการบริหารจัดการอาคารหอพักดังกล่าวแก่ บริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด และบริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด มีสิทธิเรียกให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีปฏิบัติการชำระหนี้ดังกล่าวได้ตาม บทบัญญัติมาตรา ๑๙๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

หอพักนักศึกษา-ม-อุบล-05.jpg

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๘ ส่งสำเนาเอกสารสัญญาโอนสิทธิรับเงิน ระหว่าง บริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด ในฐานะผู้โอน กับธนาคารดังกล่าวในฐานะผู้รับโอน โดยระบุรายละเอียดว่า ตามที่บริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด ได้ทำสัญญา เลขที่ ม.อบ. ๐๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ไว้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีนั้น บริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด มีหนี้สินและภาระผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ในขณะนี้ และที่จะต้องชำระต่อไปในภายหน้าแก่ธนาคาร บริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด จึงตกลงโอนสิทธิเรียกร้องในอันที่จะได้รับเงินจากผู้จ่ายเงิน ให้แก่ธนาคารเป็นเงินจำนวน ๖๘๙,๔๑๐,๗๑๔ บาท โดยบริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด ตกลงกับธนาคารให้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีทราบ

เอกสารสัญญาดังกล่าว แม้จะระบุชื่อสัญญาว่า เป็นการโอนสิทธิการรับเงิน แต่โดยที่สัญญาจัดทำขึ้นโดยบริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่คู่สัญญาเลขที่ ม.อบ. ๐๑/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ด้วยกัน เนื้อหาสาระเป็นเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง การตีความการแสดงเจตนาทำสัญญาข้างต้นต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ทั้งนี้ตามมาตรา ๑๗๑ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กรณีย่อมถือว่า เอกสารสัญญาโอนสิทธิรับเงิน ลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๘ เป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามบทบัญญัติมาตรา ๓๐๓ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และแสดงว่า ก่อนที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จะต้องทำการชำระหนี้ตามสัญญา สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านให้ผู้ร้องชำระหนี้ข้างต้นได้โอนไปยังธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) แล้ว บริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด ไม่มีสิทธิเรียกให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีชำระหนี้อีกต่อไป

ดังนั้น การที่คณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีชำระหนี้แก่บริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด จำนวน ๒๗๓,๗๔๕,๙๖๔.๑๙ บาท ดังกล่าวนั้น ส่งผลให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีต้องรับผิดในมูลหนี้ที่ได้โอนไปยังบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่สัญญาแล้ว อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๑๙๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และต้องให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา ๓๙๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุตามกฎหมายดังกล่าวอยู่จริง กระทบต่อสิทธิในทรัพย์สิน ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เข้าตามเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๐ วรรคสาม (๒) (ข) ข้ออ้างของบริษัท กำจรกิจก่อสร้างจำกัด ฟังไม่ขึ้น

หอพักนักศึกษา-ม-อุบล-04.jpg

พิพากษา เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ หมายเลขดำที่ ๙/๒๕๕๗ หมายเลขแดงที่ ๓๙/๒๕๕๗ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ระหว่างบริษัท กำจรกิจก่อสร้าง จำกัด ผู้ร้อง กับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้คัดค้าน

อ่านคดีนี้ในสำนวนภาษาเข้าใจง่ายๆ ได้ที่เฟสบุ้คของอาจารย์ สมเนตร การช่าง หรือคลิกที่นี่

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511