guideubon

 

นศ.ม.ราชภัฏอุบลฯ ปลื้มปิติ เป็นตัวแทนสกุลช่างแทงหยวก ในงานพระราชพิธีฯ

ช่างแทงหยวก-ราชภัฏอุบล-01.jpg

เป็นความภาคภูมิใจและปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่ง สำหรับครอบครัวของนายณัฐพงค์ มั่นคง นักศึกษาชั้นปีที่ 4  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนสกุลช่างแทงหยวกอุบลราชธานี เพื่อร่วมจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ระหว่างวันที่ 25 – 27 ตุลาคม 2560 ด้วยความอาลัยและสำนึกในพระมหากรุณาอันหาที่สุดมิได้

ช่างแทงหยวก-ราชภัฏอุบล-02.jpg

นายณัฐพงค์ มั่นคง หรือ “เดียร์” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาศิลปกรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า ตนเองได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนสกุลช่างแทงหยวกอุบลราชธานี เป็น 1 ใน 2 คน ตัวแทนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อร่วมจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ระหว่างวันที่ 25 – 27 ตุลาคม 2560 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ ยังความปราบปลื้มแก่ตนเอง ครอบครัว และจังหวัดอุบลราชธานี

ช่างแทงหยวก-ราชภัฏอุบล-03.jpg

กว่าจะมาถึงวันนี้ “เดียร์” เริ่มแรกมีโอกาสได้รู้จักกับ อาจารย์บุญชัย ทองเจริญบัวงาม อาจารย์สอนโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) ในงานช่างแทงหยวก โดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งบ้านโพนทราย ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านที่ตนอาศัยอยู่มีศิลปะ ประเพณี และกิจกรรมสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน คือ การทำปราสาทผึ้ง หรือต้นดอกผึ้ง ซึ่งต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างเข้าด้วยกันหนึ่งในนั้น คือ การแทงหยวก ประดับปราสาทผึ้ง หรือต้นดอกผึ้งให้มีความสวยงาม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว

ช่างแทงหยวก-ราชภัฏอุบล-04.jpg

การแทงหยวก คือ งานช่างศิลปะประเภทหนึ่งของงานช่างสิบหมู่ โดยใช้หยวกหรือต้นกล้วยลอกออกเป็นแผ่น เรียกว่า กาบกล้วย แล้วใช้มีดแทงหยวกหรือภาษาช่าง เรียกว่า มีดหางหนู เป็นเครื่องมือหลักในการฉลุกาบกล้วยให้เป็นลวดลาย แล้วนำมาประกอบกันตามลักษณะของการใช้งาน ซึ่งงานแทงหยวกเป็นงานศิลปะ อันเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำหยวก หรือกาบจากต้นกล้วยมาแกะฉลุเป็นลายไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะประเพณีอันดีงามให้คงอยู่คู่ชุมชน จึงจัดให้มีงานประเพณีการแห่ปราสาทผึ้งเป็น “งานประจำปีของหมู่บ้าน” ตนเลยมีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกทักษะการแทงหยวกจากช่างผู้มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ในชุมชน

ช่างแทงหยวก-ราชภัฏอุบล-05.jpg

หลังจากนั้น ตนมีโอกาสได้ร่วมกับช่างคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน เข้าร่วมในงานช่างแทงหยวกที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้น โดยมี อาจารย์บุญชัย ทองเจริญบัวงาม ร่วมเป็นคณะกรรมการในครั้งนั้นด้วย และได้คัดเลือกให้บ้านโพนทอง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหมู่บ้านช่างแทงหยวก สกุลช่างแทงหยวกอุบลราชธานี ทำให้ตนได้มีโอกาสช่วยงานสังคมตามคุ้มวัดหรือกิจกรรมต่างๆ ของจังหวัดอุบลราชธานี

ช่างแทงหยวก-ราชภัฏอุบล-06.jpg

สำหรับงานที่เกี่ยวกับการแทงหยวก ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในการดูแลการจัดงาน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัวแทนช่างแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นพสกนิกรของพระองค์ ได้มีโอกาสถวายงาน โดยราชสำนักเป็นผู้ทำการคัดเลือกช่างที่มีความสามารถ มีจิตอาสา มีฝีมือ และสืบงานมาโดยสายช่าง บูรณาการร่วมกันระหว่างราชสำนัก ให้สมพระเกียรติตามจารีตประเพณี

ช่างแทงหยวก-ราชภัฏอุบล-07.jpg

นายณัฐพงค์ มั่นคง หรือ “เดียร์” มีกำหนดเข้าร่วมจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ระหว่างวันที่ 22-25 ตุลาคม 2560 นับเป็นความปลื้มปิติที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนสกุลช่างแทงหยวกอุบลราชธานี 1 ใน 2 คน ตัวแทนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อร่วมจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ระหว่างวันที่ 25 – 27 ตุลาคม 2560 ซึ่งถือเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยและเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้ทำเพื่อพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

งานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี