อุบลฯ เปิดงานจุลกฐิน ผู้ว่าฯ ชมจัดได้ยิ่งใหญ่ระดับงานแห่เทียน
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดงานทอฝ้ายสายบุญจุลกฐิน ถิ่นอุบล คนมีธรรม ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560 ซึ่งจัดโดยวัดไชยมงคล ร่วมกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา และภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกภาคส่วนในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบทอดประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามมาแต่โบราณที่มีมายาวนาน เพื่อทำนุบำรุงและสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่อย่างมั่นคง ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ศีลธรรมอันดีและความรักสามัคคี สมัครสมาน สามัคคีในหมู่พุทธศาสนิกชนทุกเชื้อชาติ และให้เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้เห็นคุณค่าวัฒนธรรม มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีสืบต่อไป
สำหรับงาน จุลกฐิน นั้น เป็นกฐินที่ทำด้วยความรีบเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน โดยต้องอาศัยความสามัคคี ของผู้มีจิตศรัทธา เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว จึงถือว่าการทำบุญจุลกฐินมีอานิสงส์มาก ต้องใช้ความอุตสาหะ พยายามกว่ากฐินแบบธรรมดา ภายในระยะเวลาจำกัด
สำหรับ งานทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน ถิ่นอุบล คนมีธรรม ครั้งที่ 9 ประจำปี 2560 ได้กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 1 - 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ณ บริเวณวัดไชยมงคล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิต และอนุรักษ์ สืบทอด ประเพณีวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณ ทำนุ บำรุงและสืบทอดพระพุทธศาสนา รวมทั้งเพื่อจัดหาทุนในการก่อสร้างรูปหล่อเหมือน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต องค์ยืนที่สูงที่สุดในโลก 13 เมตร
โดยจะมีกิจกรรมที่สำคัญในปีนี้ อาทิ พิธีบำเพ็ญกุศล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิต การจัดนิทรรศการ “งานของพ่อ”, กิจกรรมงาน “ตามฮอยพ่อ” พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิต ในด้านต่างๆ ฐานการเรียนรู้จากเมล็ดฝ้ายสู่ไตรจีวร เริ่มต้นตั้งแต่ การปลูกฝ้ายเป็นสายบุญ, เก็บฝ้ายสายธารบุญ, อิ้ว ดีด ล้อ เข็นฝ้ายสายธารธรรม, เปีย ปั่นฝ้ายสายศรัทธา, กวัก ค้น สืบฝ้ายสายใยบุญ, ตำหูก ผูกสายธรรม, ตัดเย็บ เก็บสายใย, ย้อมด้ายสายพระธรรม และมหาบุญจุลกฐิน
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ซึ่งเป็นการจัดแสดงงานบุญทั้ง 12 เดือนของชาวอีสาน ไม่ว่าจะเป็น เดือนอ้าย-บุญเข้ากรรม, เดือนยี่-บุญคูณลาน, เดือนสาม-บุญข้าวจี่, เดือนสี่-บุญผะเหวด, เดือนห้า-บุญสงกรานต์, เดือนหก-บุญบั้งไฟ, เดือนเจ็ด-บุญซำฮะ, เดือนแปด-บุญเข้าพรรษา, เดือนเก้า-บุญข้าวประดับดิน, เดือนสิบ-บุญข้าวสาก, เดือนสิบเอ็ด-บุญออกพรรษา และเดือนสิบสอง-บุญกฐิน
ฐานการเรียนรู้ถนนสายข้าว อาทิ ถนนสายข้าวหลาม, ข้าวต้มมัด, ข้าวปุ้น (ขนมจีน), ข้าวจี่, ข้าวมธุปายาส, ข้าวเม่า, ข้าวโป่ง, ข้าวปาด และมาลัยข้าวตอก
การละเล่นพื้นบ้านอีสาน อาทิ กระต่ายขาเดียว, รีรีข้าวสาร, เดินขาโถกเถก, ม้าก้านกล้วย, หมากเก็บ, เดินกะลา, โยนเบี้ยหรือตังเต, เสือกินวัว, งูกินหาง, มอญซ่อนผ้า และบักกิ้งล้อ และนิทรรศการการสาธิตด้านศิลปวัฒนธรรม อาทิ การแสดงดนตรีไทย, สาธิตการแสดงหมอลำกลอน, สาธิตการแสดงหนังบักตื้อและการแกะสลักตัวละครหนังบักตื้อ (ประโมทัย) โดยกิจกรรมต่างๆ ได้เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเรียนรู้ ศึกษา ได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย