เวทีประชาคมชุมชนรอบเกาะหาดวัดใต้ “ทวงคืนเกาะหาดวัดใต้ ให้คนอุบล”
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ที่บริเวณเวทีประชาคม ชุมชนรอบเกาะหาดวัดใต้ นายกเทศมนตรีนครอุบล นางสาวสมปรารถนา วิกรัยเจิดเจริญ พร้อมด้วย พ.ต.อ.สามารถ แก้วเนตร, ผู้แทนจาก มทบ.22 และตัวแทนส่วนราชการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับประชาชนในเขตเมืองเก่าริมแม่น้ำมูล ชุมชนหาดวัดใต้ ภาคประชาสังคมและกลุ่มจิตอาสาในพื้นที่ ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมปกป้อง ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมและพัฒนาเกาะหาดวัดใต้
นายกเทศมนตรีนครอุบล กล่าวว่า เกาะหาดวัดใต้ ได้ถูกปล่อยทิ้งร้างขาดการดูแลบริหารจัดการมานานหลายสิบปี การที่ชุมชนและพลังประชาชนหลายภาคส่วน ได้ลุกขึ้นมาร่วมปกป้องธรรมชาติ ลำน้ำ หาดทราย และพื้นที่สีเขียว คืนความงดงามให้เกาะหาดวัดใต้ ทางเทศบาลนครอุบล รู้สึกยินดีและจะร่วมให้การสนับสนุนเคียงข้างการตัดสินใจของประชาชนในชุมชนและความต้องการของคนอุบล โดยเป็นความตั้งใจของเทศบาลนครอุบล ที่จะร่วมพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในอนาคตอันใกล้นี้
ทางด้านนายนิมิต สิทธิไตรย์ อดีตประธานหอการค้า อุบลราชธานี และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะผู้แทนมูลนิธิพัฒนาอุบล องค์กรสำคัญที่มีส่วนริเริ่มผลักดันโครงการพัฒนาเกาะหาดวัดใต้ กล่าวว่า อุบลกำลังจะเปลี่ยนไป ด้วยพลังการพัฒนาของชุมชน พลังคนอุบลอาสา ด้วยคำมั่นว่า ชุมชนจะปกป้องและร่วมฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับมาภายใน 2 ปี โดยจะเร่งคืนความเขียวขจีแห่งธรรมชาติให้กลับมาดังเดิมในเร็ววัน
นายนิมิต ได้กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นจะมีโครงการนำร่อง จัดให้มีตลาดน้ำ โดยประสานแพลอยน้ำขนาดใหญ่มาจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด ไม่ได้สร้างแพใหม่ แต่ใช้วิธีประสานงานขอใช้ คือ ต้องการทำให้ชุมชน มีเศรษฐกิจที่ ดีกว่าเดิม และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ที่อดีตถูกมองว่า เป็นพื้นที่อันตราย ค้ายาเสพติด เปลี่ยนจากชุมชนค้ายา (ในอดีต) เป็นชุมชนค้าขาย และให้โอกาสค้าขาย เป็นอาชีพในตลาดน้ำใหม่ ทั้งยังมีแนวคิดให้ประกาศเป็นเขตชุมชนปลอดการดูดทราย ในรัศมี 5 กม.โดยรอบเกาะหาดวัดใต้
ด้านความคืบหน้าในการพัฒนาเกาะหาดวัดใต้ ให้เป็นจุดดึงดูดด้านการท่องเที่ยวนั้น นายเชษฐา ไชยสัตย์ ประธานชมรมศรีแม่มูล ในฐานะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า นับเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมที่ชาวอุบลราชธานี ได้ร่วมกันสานพลังประชารัฐ มุ่งสร้างความมั่นคงแก่ชุมชนซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง “หัวใจของการท่องเที่ยวโดยชุมชน” ก็คือ การมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนบนพื้นฐานความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตวัฒนธรรมของตนและการจัดการทรัพยากรของชุมชน
นายเชษฐา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ทุกภาคส่วนในสังคมได้มีความร่วมมือกันโดยให้ชุมชนริเริ่มที่จะนำเสนอ “ของดีชุมชนและความภาคภูมิใจ” การคิดหาทางสร้างความสุข ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนกับผู้มาเยือน การท่องเที่ยวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ประชาชนมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเริ่มจากสิ่งเล็กๆที่งดงาม ด้วยความขยัน อดทนและช่วยตนเองของชุมชน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์เขตเมืองเก่าริมแม่น้ำมูลและเกาะหาดวัดใต้ ให้ประชาชนได้ชื่นชม นับเป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวเชิงถวิลหา ทั้งยังต้องสร้างเสริมความสะดวกเพื่อคนที่มีร่างการบกพร่อง ผู้พิการ คือจะต้องเป็นการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล, โดยร่วมใช้ประโยชน์จากภูมิทัศน์ที่งดงามแห่งธรรมชาติและวิถีคนริมแม่น้ำมูล ภายใต้แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สู่ความยั่งยืน
Cr: เชษฐา ไชยสัตย์
ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว อุบลราชธานี
สกู๊ปข่าวโดย
ทีวีชุมชนอุบลราชธานี TvChumchonubon