guideubon

 

นศพ. ม.อุบลฯ ขอตามรอยพ่อ ร่วมทีม พอ.สว.แพทย์เดินเท้าช่วยชาวดอยในหุบเขาสูง

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-01.jpg

วันที่ 13 มีนาคม 2561 อีกหนึ่งเรื่องราวดีๆ ของนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ได้รับคำชื่นชม และแชร์ในสื่อโซเชียลในวงกว้าง จากเฟสบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า Prajin Laothiang ซึ่งเป็นเฟสบุคของ นพ.ประจินต์ เหล่าเที่ยง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดจันทร์ เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้เขียนข้อความชื่นชม นศพ.สุชัญญา ปาริชาต เปรี่ยมนอง นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เป็น นศพ.เพียงคนเดียวเข้าร่วมโครงการแพทย์เดินเท้า พอ.สว. ณ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 18 –24 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-02.jpg

โดยบทความและภาพที่ลงในเฟสบุ๊ค Prajin Laothiang นพ.ประจินต์ เหล่าเที่ยง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัดจันทร์ เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ได้เขียนข้อความชื่นชมว่า......

# ความมหัศจรรย์ของแรงบันดาลใจ เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้รับการติดต่อจากเด็กสาวคนหนึ่ง เธอเป็นนักศึกษาแพทย์จาก ม อุบล #MedUBU เธอตั้งใจจะมาหาประสบการณ์จากแพทย์รุ่นใหญ่ ที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกลจริงๆ บังเอิญเหลือเกิน ผมจะต้องไปร่วมงานแพทย์เดินเท้าที่แม่สะเรียง กับทีมแพทย์อาสาสมเด็จย่า #มูลนิธิ พอ.สว. เป็นการเดินเท้าเข้าไปในเขตหุบเขาสูง ไปจนถึงเขตชายแดนไทย – พม่า หมู่บ้านเหล่านี้อยู่ห่างไกลโรงพยาบาลมากเดินทางลำบาก ต้องเดินเท้าเข้าไป เธอตอบตกลง แต่เพื่อนของเธอขอถอนตัว

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-04.jpg

เด็กสาวคนเดียวจากอีสาน จะร่วมเดินเท้าเข้าไปด้วยกันที่ชายแดน บนภูเขา มันเป็นชีวิตที่แตกต่างจากที่เธออยู่เป็นอย่างมากคุณพ่อของเธอโทรมาย้ำถึงความปลอดภัย 5 วันกับการเดินเท้าในป่าในดอยกับแพทย์รุ่นพี่อยู่กับความลำบาก ได้เห็น ได้ช่วยพี่ๆ ดูแลผู้ป่วย เธอได้ประสบการณ์ตรงที่นอกเหนือตำรา ไม่น่าเชื่อ #เธอเปลี่ยนไปหลังกลับจากการเดินดอยที่แม่สะเรียง เธอต้องมาฝึกต่อที่โรงพยาบาลวัดจันทร์ฯ ฝึกตรวจรักษา ฝึกทำคลอด ฝึกฉีดยา ฝึกเย็บแผล ฝึก.... และเธอทำได้ดีมาก

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-05.jpg

อีกสิ่งหนึ่งคือ ฝึกการทำงานกับชุมชน ที่หมู่บ้านหนึ่งในเขตอำเภอเวียงแหง เป็นหมู่บ้านชาวเขา มีปัญหาเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้มาหลายสิบปี เขาร้องขอความช่วยเหลือมา พวกเรากับพระอาจารย์ต้องเดินเท้าเข้าไปในป่าลึก บนทางที่แทบจะไม่ใช่ทาง เพื่อเข้าไปทำฝายต้นน้ำ ซึ่งห่างไกลจากหมู่บ้านแล้วต่อท่อลงมา ชาวบ้านดีใจมากที่ได้น้ำ

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-06.jpg

เป็นเวลาอีก 1 สัปดาห์ที่เธอมาฝึกที่นี่ #เธอไม่เหมือนเดิม เราสังเกตเห็นว่า #แรงบันดาลใจ ของเธอเปลี่ยนไป การเรียนรู้ผ่านชีวิตจริงและการได้ลงมือทำเอง ผมเชื่อว่า มันทำให้เธอเปลี่ยนไป เราสังเกตเห็นรอยยิ้ม เธอมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนได้จริง ต่างจากวันแรกที่เธอมา และผมเชื่อมั่นว่าเมื่อเธอเรียนจบเธอต้องเป็นหมอที่ดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจได้ดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-07.jpg

#ประสบการณ์ที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน ขอบคุณ #วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่อบรมสั่งสอนเธอมาก่อนเป็นอย่างดี ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ของเธอที่เลี้ยงดูมาอย่างดี และกล้าให้ลูกสาวมาผจญภัยทั้งที่เป็นห่วง ขอบคุณแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้น ที่ไม่ใช่แค่เกิดขึ้นกับเธอเพียงฝ่ายเดียว แรงบันดาลใจเกิดขึ้นกับผมด้วย และทำให้ผมมีพลังใจ ในการถ่ายทอดให้กับแพทย์รุ่นน้องต่อๆ ไป

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-08.jpg

นี่แหละคือความมหัศจรรย์ของแรงบันดาลใจ ยิ่งมอบให้คนอื่น เรายิ่งกลับได้รับเพิ่มเติม ด้วยความปลาบปลื้ม

นพ.ประจินต์ เหล่าเที่ยง
โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา
#๙ตามรอยเท้าพ่อ

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-09.jpg

ในส่วนของนักศึกษาแพทย์ที่ได้รับคำชื่นชมในครั้งนี้ คือ นางสาวสุชัญญา ปาริชาต เปรี่ยมนอง หรือ ต้นอ้อ กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันอายุ 22 ปี ภูมิลำเนา อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร เป็นบุตรสาวคุณพ่อสุกันต์ เปรี่ยมนอง เจ้าพนักงานอำเภอคำเขื่อนแก้ว และ คุณแม่นางวราภรณ์ เปรี่ยมนอง อาชีพค้าขาย มีความสนใจในการหาประสบการณ์เรียนรู้จากชีวิตจริง ซึ่งมีความแตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน จึงมุ่งหน้าสมัครเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-10.jpg

นศพ.สุชัญญา ปาริชาต เปรี่ยมนอง กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ได้ร่วมโครงการนี้ ขอขอบคุณโอกาสดีดีจาก นพ.ประจินต์ เหล่าเที่ยง และผู้ใหญ่ของมูลนิธิ พอสว. ที่ทำให้หนูได้มีประสบการณ์ที่ดีมากๆ ครั้งหนึ่งในชีวิต กับโครงการแพทย์เดินเท้า หลายอย่างที่เราเจอไม่ใช่แค่ได้ความรู้ แต่เราได้แง่คิดหลายอย่าง ไม่ใช่แค่การได้ช่วยเหลือคนบนดอย เพราะถ้าเราคิดดี มันมีอะไรมากกว่านั้นซ่อนอยู่ ที่สำคัญที่สุด ก็คือการที่ทำให้เรารู้สึก 'รักคนไข้' มากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจถึงบริบทของคนไข้ในพื้นที่เราด้วย ค่อยๆเรียนรู้อละปรับใช้ มันอาจจะยาก แต่เราก็ต้องพยายาม ยังมีคนมากมายที่ลำบากกว่าเรา แต่เขาก็ยังอยู่ได้

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-11.jpg

ทั้งนี้ อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นกับการจะได้เดินดอยในครั้งนี้ ที่ต้องเดินขึ้นเขาบุกป่าฝ่าดงลุยน้ำเพราะ เรานึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่พระองค์ทรงพระราชดำเนินไปแล้วทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย เดินไปนึกไปน้ำตาก็พาลจะไหลเรามาเดินแค่นี้ เทียบไม่ได้แม้เศษเสี้ยวความลำบากของพระองค์ และมันก็ยิ่งเป็นแรงผลักดัน ที่ทำให้เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะดำเนินรอยตามสิ่งที่พระองค์หวัง ก็คือการได้พัฒนาประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในประเทศ แม้เป็นพื้นที่เล็กๆ ก็ตาม

 สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-12.jpg

โครงการแพทย์เดินเท้า พอ.สว. ทำให้ตนได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนบนดอย ที่ลำบากขาดแคลนในหลายสิ่ง แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็เป็นช่วงที่มีความสุข สุขใจที่ได้ช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีมิตรภาพที่ดีในการทำงานร่วมกัน ของผู้มีอุดมกาณ์เดียวกัน ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมของพี่ๆอาสาสมัครที่เป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล อาสาสมัครสมทบ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งนับว่าเป็นผู้ปิดทองหลังพระโดยแท้

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-13.jpg

นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการทุ่มเท จิตอาสา ช่วยเหลือสังคมอย่างเห็นเด่นชัด ตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ทุกพื้นที่ชุมชนในท้องถิ่นทุรกันดาร คือที่ทำงานของ “หมอ ม.อุบลฯ”

 

เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว โครงการแพทย์เดินเท้า พอ.สว. / ภาพ

สุชัญญา-ปาริชาต-เปรี่ยมนอง-แพทย์เดินเท้า-03.jpg