ม.อุบลฯ เดินสาย ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน แก่นักเรียน
วันที่ 15 มีนาคม 2561 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดโครงการ อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน (พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนนารีนุกูล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวให้โอวาทผู้เข้ารับการอบรม นายธรรมนูญ ใจเกื้อ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนนารีนุกูล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรม
สำหรับการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ชัชวิน นามมั่น และ ดร.สมปอง เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การประยุกต์ใช้งานอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการอาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงา (พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติยา วงษ์ขันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชานี และผู้ร่วมโครงการอาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน(พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “ไฟฟ้าและการอนุรักษ์” ณ ห้องประชุมโรงเรียนนารีนุกูล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนเข้ารับการอบรมจำนวนมาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักเกียรติ จิตคติ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าผู้รับผิดชอบโครงการอาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน(พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) กล่าวว่า สำหรับการจัดโครงการครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ณ โรงเรียนนารีนุกูล ส่วนครั้งที่ 1 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ โรงเรียนราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งกระแสตอบรับจากนักเรียนที่เข้ารับการอบรมดีมาก เนื่องจากเนื้อหาการอบรมเป็นเรื่องใกล้ตัว ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะเรื่องของไฟฟ้าและการอนุรักษ์พลังงานทดแทน ที่ปัจจุบันทั่วโลกมีการตื่นตัวหาพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งพลังงานที่ใช้ไม่มีวันหมด
ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นก็คือ พลังงานจากดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญในอนาคต ที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยตรง โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar energy) หรือการผลิตเอทานอลจากพืช ก๊าซชีวภาพ (Biogas) ที่เป็นอีกแหล่งพลังงานทางเลือกของประเทศไทยที่เกิดจากการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งจุลินทรีย์กลุ่มนี้มีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยก๊าซออกซิเจนทำการย่อยสลาย และจะเกิดก๊าซกลุ่มใหม่ขึ้นที่เรียกว่า ก๊าซมีเทน (Methane – CH4)
ส่วนการประยุกต์ใช้งานอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งทางวิทยากรได้นำความรู้ที่ใกล้ตัวเด็กๆ มากที่สุด อาทิ ระบบควบคุมการเปิดปิดไฟฟ้าแบบออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน และเสียง รวมทั้งระบบควบคุมแสงสว่างภายในบ้านแบบอัตโนมัติ เฉพาะพื้นที่ที่มีคนอยู่เท่านั้น ตลอดจนระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติผ่านแอปพลิเคชันไลน์เมื่อลืมปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ระบบวัดพลังงานความร้อน ความชื้น และระบบวัดความเร็วลม เป็นต้น โดยการนำค่าพลังงานที่วัดได้ไปควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ทำงานตามความเหมาะสมและความจำเป็นของการใช้งาน ซึ่งจะทำให้การใช้พลังงานในชีวิตประจำวันประหยัดมากยิ่งขึ้น
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินโครงการ อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน(พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน) แผนบูรณาการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 21 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวได้แยกงบประมาณเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ใช้ในการก่อสร้างศูนย์อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานของจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง และภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยก่อสร้าง ณ พื้นที่การเรียนการสอนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณสิ้นปี และส่วนที่ 2 ใช้ในการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติ เพื่อผลิตผู้มีความรู้ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันต่อไปได้
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว