นักศึกษา ม.อุบลฯ ต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน เพิ่มมูลค่าเสื่อเตยหนามด้วยน้ำยางพารา
โครงงาน “เพิ่มมูลค่าเสื่อเตยหนามด้วยน้ำยางพารา ส่งเสริมภูมิปัญญาบ้านโคกระเวียง” ของนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธาี เข้าร่วมโครงการ “กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน” ระดับอุดมศึกษา โครงการ “กล้าใหม่...ใฝ่รู้” ปี 2560 ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เตรียมสรุปโครงงานตั้งแต่เริ่มโครงงานจนถึงปัจจุบันและแผนการต่อยอดโครงงานต่อคณะกรรมการ ในวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2561 นี้
โครงการ “กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน” จัดโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษา ในการประยุกต์ใช้ความรู้จากห้องเรียนมาปฏิบัติจริงก่อนเข้าสู่ชีวิตการทำงานและปลูกฝังให้นิสิตนักศึกษารู้จักถึงการริเริ่ม สร้างสรรค์ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคมและส่วนรวม เพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดและขยายองค์ความรู้สู่นิสิตนักศึกษาและสู่สังคม เพื่อประโยชน์กับชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต หรือสิ่งแวดล้อม
สำหรับโครงงาน “เพิ่มพูนค่าเสื่อเตยหนามด้วยน้ำยางพารา ส่งเสริมภูมิปัญญาบ้านโคกระเวียง” จากการส่งผลงานการบูรณาการร่วมกัน ระหว่างนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการตลาด คณะบริหารศาสตร์ และนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี นายชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน และ นางสาวอุบลรัตน์ ยืนไพโรจน์ หัวหน้าโครงงาน พร้อมสมาชิก จำนวน 17 คน เป็น 1 ใน 20 โครงงาน/ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบที่ 3 ได้รับงบประมาณสนับสนุนทีมละ 75,000.- บาท เพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมตามโครงงานที่นำเสนอ หลังจากดำเนินกิจกรรมตามโครงการไปแล้วประมาณ 2.5 เดือน ทุกทีมจะต้องส่งตัวแทนทีมละ 3 คน มานำเสนอความคืบหน้าการดำเนินโครงงานต่อคณะกรรมการ
จากนั้นทีมนิสิตนักศึกษาที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จำนวน 20 ทีม จะต้องส่งตัวแทนทีมละ 3 คน มานำเสนอรายงานสรุปโครงงานตั้งแต่เริ่มโครงงานจนถึงปัจจุบันและแผนการต่อยอดโครงงานต่อคณะกรรมการ ในวันที่ 28 – 30 มีนาคม 2561 ณ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
โดยโครงงาน “เพิ่มพูนค่าเสื่อเตยหนามด้วยน้ำยางพารา ส่งเสริมภูมิปัญญาบ้านโคกระเวียง” ได้ส่ง นางสาวปริยชาติ คุณสว่าง นายปณิธาน ธรรมวิเศษ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ และ นายกฤษดา ตั้งสุภวงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการตลาด คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นตัวแทนนำเสนอโครงงานและแผนการต่อยอดโครงงานของชุมชนต่อคณะกรรมการ
นายชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน กล่าวว่า สำหรับโครงงานดังกล่าว จัดทำขึ้น ณ บ้านโคกระเวียง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งประกอบอาชีพทำเสื่อจากเตยหนาม ในการนำเตยหนามมาตากแห้งและนำมาทอเป็นเสื่อ จากการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนการทอเสื่อใบเตยโคกระเวียงในปี พ.ศ. 2535 โดยส่งผลิตภัณฑ์ต่อให้พ่อค้าคนกลาง เดิมการทำเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เฉลี่ย 40,000.- บาท/ครัวเรือน/เดือน ปัจจุบันเป็นอาชีพเสริมเนื่องจากมีรายได้ลดลงเหลือประมาณ 3,000.- บาท/ครัวเรือน/เดือน
จากประสบการณ์ที่เคยทำ โครงงานโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับผลิตไส้หมอนขิดจากน้ำยางพารา ที่ ต.ศรีฐาน อ.ศรีฐาน จ.ยโสธร ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิ SCG พบว่าขั้นตอนการทำไส้หมอนขิดจากยางฟองน้ำที่ได้จากน้ำยางพารา ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และสามารถประยุกต์ใช้ในการทำเป็นแผ่นยางฟองน้ำเสริมเสื่อเตยหนามได้ เป็นการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่สมาชิกวิสาหกิจชุมชนสามารถทำได้เอง
ในส่วนการออกแบบผลิตภัณฑ์ เรามีนักศึกษาจากสาขาออกแบบอุตสาหกรรม คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ทำหน้าที่ออกแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มความน่าสนใจให้มากขึ้น ส่วนนักศึกษาจากสาขาการตลาด คณะบริหารศาสตร์ ทำหน้าที่ฝ่ายการตลาดหาช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์สู่กลุ่มเป้าหมาย และนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ ด้านการแปรรูปน้ำยางเป็นแผ่นยางฟองน้ำ มาใช้เสริมเสื่อเตยหนาม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความนุ่มและแปลกใหม่มากขึ้น การใช้น้ำยางข้นจากสมาชิกวิสาหกิจชุมชนที่มีสวนยางอยู่แล้ว โดยวิธีการทำครีมเพราะเป็นวิธีง่ายไม่ต้องใช้เครื่องจักรที่มีราคาสูง
จากการลงพื้นที่บ้านโคกระเวียง ในการถ่ายทอดความรู้และพาทำแผ่นยางฟองน้ำ กระแสตอบรับจากชาวบ้านและวิสาหกิจชุมชนดีมาก เนื่องจากเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์เสื่อเตยหนาม น้ำยางพาราของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเพิ่มความหลากหลายให้แก่เสื่อเตยหนามบ้านโคกระเวียงให้ทันสมัยและปรับประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้หลายหลายยิ่งขึ้นต่อไป
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว