guideubon

 

 

กฟผ. –อ.สิรินธร วางมาตรการป้องกัน เตรียมรับมือนักท่องเที่ยวแห่ล่องแพลำโดมน้อย

แพลำโดมน้อย-เขื่อนสิรินธร-อุบล-01.jpg

วันที่ 2 เมษายน 2561 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ชี้แจงมาตรการในการขับแพท่องเที่ยว บริเวณท้ายเขื่อนสิริธรให้กับผู้ประกอบการ โดยจะเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย จัดทำทุ่นลอยน้ำ กั้นไม่ให้ผู้ประกอบการนำแพล่องเลยเข้าไปในเขตน้ำไหลเชี่ยว เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว

แพลำโดมน้อย-เขื่อนสิรินธร-อุบล-02.jpg

นายสนอง มะลัยขวัญ นายอำเภอสิรินธร กล่าวว่า จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุแพของผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำนวน 2 ลำ เกาะเกี่ยวกันในลำน้ำโดมน้อย พื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อนสิรินธร บริเวณท่าแพบ้านโนนหินกอง ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี แต่ไม่มีนักท่องเที่ยวหรือประชาชนได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด สาเหตุเกิดจากผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวที่ประสบเหตุ ได้ล่องแพเลยเข้ามาในเขตน้ำไหลเชี่ยวแรง ซึ่งปกติไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำแพล่องเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเป็นพื้นที่ท้ายเขื่อนที่มีการระบายน้ำจากเขื่อนสิรินธร ซึ่งอำเภอสิรินธร ได้จัดสรรและอนุญาตให้ผู้ประกอบการล่องแพในเขตพื้นที่ที่ปลอดภัยและเหมาะสมเนื่องจากลำน้ำโดมน้อย ถือเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ มีผู้ประกอบการแพท่องเที่ยว ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ จำนวนกว่า 200 ลำ

แพลำโดมน้อย-เขื่อนสิรินธร-อุบล-03.jpg

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งตามปกติแล้ว แพของผู้ประกอบการแต่ละลำจะต้องล่องไปในทิศทางเดียวกัน รักษาระยะห่างที่เหมาะสมเพื่อความปลอดภัย และไม่ควรล่องแพเลยเข้าไปเกินจากเขตพื้นที่ที่กำหนด โดยทางอำเภอสิรินธรมีมาตรการกำหนดไว้ชัดเจน ผู้ขับแพทุกคนจะต้องผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากกรมเจ้าท่า ภายในแพทุกลำจะต้องมีอุปกรณ์ชูชีพเพียงพอ มีเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน สำหรับการระบายน้ำจากเขื่อนสิรินธร ซึ่ง กฟผ. เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบนั้น ทาง กฟผ. จะประสานงานและแจ้งข้อมูลการระบายน้ำให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เป็นประจำ 

ด้านนายธนภัทร ฉัตรสุวรรณ หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร กล่าวว่า กฟผ. ได้ดำเนินการระบายน้ำตามมติอนุกรรมการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ โดยวันเกิดเหตุได้มีการระบายน้ำตามแผนตามปกติ จำนวนวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้ประสานและแจ้งข้อมูลแก่กลุ่มผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวแล้ว ที่ผ่านมา กฟผ. ระบายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ และผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการล่องแพ เนื่องจากถือเป็นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนโดยรอบเขื่อน ทั้งนี้ กฟผ.ให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทางอำเภอสิรินธรผู้ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ได้มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัย ด้วยการจัดทำทุ่นลอยน้ำเพื่อกั้นไม่ให้ผู้ประกอบการนำแพล่องเลยเข้าไปในเขตน้ำไหลเชี่ยว และจะร่วมกับอำเภอสิรินธรเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการระบายน้ำและข้อควรปฏิบัติด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบการแพท่องเที่ยวต่อไป

นายสนอง มะลัยขวัญ นายอำเภอสิรินธร กล่าวเสริมว่า กิจกรรมแพท่องเที่ยวนี้ มีการประกอบการเป็นปีที่ 3 ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวดีมาก โดยมีสถิติของนักท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมาถึง 700,000 คน คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนอีกเป็นนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ “อำเภอสิรินธรขอความร่วมมือทุกท่านในฐานะเจ้าของบ้านในการสร้างมิตรภาพและความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความประทับใจ ไม่เอาเปรียบ มอบแต่สิ่งดี ๆ ดูแลเอาใจใส่ สิ่งเหล่านี้คือมูลค่าของธุรกิจการท่องเที่ยว เชื่อว่าด้วยมาตรการดูแลด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นนี้จะสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ได้เป็นอย่างดี” นายอำเภอสิรินธรกล่าวในที่สุด

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511