พพ.กระทรวงพลังงาน จับมือ ม.อุบลฯ จัดอบรมด้านพลังงานทดแทน ฟรีทั่วไทย!!
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดอบรม “โครงการพัฒนาบุคลากรภาคปฏิบัติด้านพลังงานทดแทน” อบรมฟรี!! สำหรับบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กำหนดจัดอบรม 4 หลักสูตร 20 รุ่น (พฤษภาคม – ธันวาคม 2561) กลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่า 800 คน ทั่วประเทศเข้าร่วม ซึ่งเมื่อวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา จัดอบรม รุ่นที่1และรุ่นที่ 2 หลักสูตรด้านการผลิตก๊าซชีวภาพ” โดยมี นายชัยยุทธ สารพา ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการศูนย์แสดงเทคโนโลยีพลังงาน สำนักพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ประธานเปิดงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.กุลเชษฐ์ เพียรทอง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวรายงาน ณ โรงแรมบ้านสวนคุณตา จังหวัดอุบลราชธานี
นายชัยยุทธ สารพา ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารจัดการศูนย์แสดงเทคโนโลยีพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามแผนงานนโยบายของกระทรวงพลังงาน มีการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการใช้พลังงานของประเทศอยู่ในระดับสูงและยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยที่พลังงานส่วนใหญ่ ยังต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนการใช้พลังงานทดแทน ก็ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 13.83 % ของปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมด โดยมี พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานก๊าซชีวภาพ พลังงานเอทานอล และ พลังงานก๊าซชีวมวล เป็นพลังงานหลัก ดังนั้น เพื่อให้บรรลุค่าเป้าหมายของการดำเนินการตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 หรือที่เราเรียกย่อๆว่า AEDP 2015 ของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนเป็น 30 % ของพลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2579 ดังนั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงจัดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทน สำหรับบุคลากรในหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มุ่งเน้นให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในพลังงานทดแทนแต่ยังขาดการนำมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.กุลเชษฐ์ เพียรทอง ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ ศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินการจัดทำหลักสูตรการอบรม โครงการพัฒนาบุคลากรภาคปฏิบัติด้านพลังงานทดแทน ซึ่งแบ่งเป็น 4 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรด้านพลังงานแสงอาทิตย์ หลักสูตรด้านการผลิตก๊าซชีวภาพจากวัตถุดิบต่างๆ หลักสูตรด้านการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลและก๊าซชีวภาพจากกระบวนการผลิตเอทานอล และ หลักสูตรด้านแก๊สซิฟิเคชั่นจากชีวมวล กำหนดอบรมระหว่างเดือนพฤษภาคม – ธันวาคม 2561 กลุ่มเป้าหมายคือ บุคลากรในสังกัดหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หน่วยงานภาคอุตสาหกรรม จำนวน 800 คน ทั่วประเทศ แบ่งการอบรม 20 รุ่นๆละ 40 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื้อหาหลักเป็นหลักสูตรเฉพาะด้านทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน มีการสาธิต และศึกษาดูงานในหน่วยงานที่มีการใช้งานจริง ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง โดยมีทีมวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน จาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหน่วยงานภายนอกร่วมถ่ายทอดความรู้ ในครั้งนี้
นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความสำคัญในการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทน นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และประเทศไทย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มศักยภาพด้านพลังงานทดแทน เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้านการบริการวิชาการ ถ่ายทอดความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีใหม่ๆแก่สังคม เป็นการบูรณาการในหลักสูตรการเรียนการสอนที่สามารถประยุกต์ใช้ได้จริงอีกด้วย รศ.ดร.กุลเชษฐ์ เพียรทอง ผู้จัดการโครงการฯ กล่าว
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณศิรินทรา บุญศิริ หรือ คุณอรพรรณ กาญจนเสน ศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทรศัพท์ 081-321-5538 และ 0-4535-3300 ต่อ 3394 โทรสาร 0-4535-3333 อีเมล: fernfale@gmail.com หรือ ubu.rsec@gmail.com
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว