ม.อุบลฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยี การแปรรูปน้ำยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
หลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดกิจกรรมบริการวิชาการถ่ายทอดเทคโนโลยี “การแปรรูปน้ำยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม” ในระหว่างวันที่ 5 - 6 พฤษภาคม 2561 ณ อาคารปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้แก่กลุ่มแกนนำสมาชิกสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินกันทรลักษ์ จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 7 คน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์จำนวน 2 คน และเจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทยสาขากันทรลักษ์ 1 คน รวมทั้งสิ้น 10 คน โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ ประเสริฐศรี ดร.ศันศนีย์ ศรีจันทร์ และ นายศิวรักษ์ จันโท เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ซึ่งมีนักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ จำนวน 4 คน ร่วมเป็นผู้ช่วยวิทยากรในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ ประเสริฐศรี ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ กล่าวว่า สำหรับการให้บริการวิชาการถ่ายทอดเทคโนโลยีในครั้งนี้ เป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ที่มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนได้ลงมือปฏิบัติจริง ในการแปรรูปน้ำยางพาราเป็นยางฟองน้ำในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย หมอนยางพารา เบาะยางพารา ตุ๊กตาและของชำร่วยจากยางพารา เป็นต้น
โดยผู้เข้ารับการอบรมทุกคนต้องเข้ารับความรู้จากวิทยากรประจำฐานปฏิบัติการต่างๆ ได้แก่ ฐานปฏิบัติการกระบวนการผลิตยางฟองน้ำ ฐานการทดสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของยางฟองน้ำ และฐานการตกแต่งผลิตภัณฑ์ยางฟองน้ำ (การพ่นสีตุ๊กตาและของชำร่วย)
จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี “การแปรรูปน้ำยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม” ในช่วงระยะเวลา 2 วัน ให้แก่กลุ่มแกนนำสมาชิกสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินกันทรลักษ์ จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับความสนใจจากสมาชิกสหกรณ์การเกษตรผู้เข้ารับการอบรมเป็นอย่างมาก ซึ่งทีมวิทยากรผู้จัดอบรมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้แก่แกนนำสมาชิกสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินกันทรลักษ์ จำกัด จะได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ ไปถ่ายทอดและขยายผลให้แก่สมาชิกในกลุ่มสหกรณ์ฯ ที่มีอยู่มากกว่า 1,200 คนในขณะนี้ ให้มาช่วยกันยกระดับราคายางพาราโดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณยางพาราของสมาชิกสหกรณ์ และให้กลุ่มสหกรณ์ฯ หันมาสนใจการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจยางพาราในอนาคตได้ โดยจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และช่วยกันผลักดันให้สามารถแปรรูปน้ำยางพาราเป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ยางพาราที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มสหกรณ์หรือของจังหวัดศรีสะเกษต่อไป
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ/ข่าว