รมว.วิทย์ฯ ชม 3 นวัตกรรมพันธุ์ไทยแท้ ผลงาน ม.อุบลฯ
วันที่ 27 กันยายน 2560 ดร.อรรชกา สิบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะผู้ติดตาม และคณะผู้สื่อข่าวสายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทิรา ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และบุคลากรโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมให้ต้อนรับและอำนวยความสะดวก สถานที่ในการถ่ายทำรายการเดินหน้าประเทศไทย
นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ถ่ายทำ Smart farmer ผู้พัฒนาระบบควบคุมอัจฉริยะสำหรับโรงเรือนทางการเกษตร ณ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นับเงินฟาร์ม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมชมและถ่ายทำ การสาธิตการทำงานของโดรนอัจฉริยะเพี่อการเกษตร บริเวณแปลงนาสาธิต คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และชมการจัดแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรมของผู้ประกอบการรายใหม่ รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ณ สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
จากนั้นเดินทางไปยัง บริษัท RST Robotics ผู้พัฒนาและผลิตหุ่นยนต์แขนกลของคนไทยสำหรับอุตสาหกรรม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานคร เวลา 16.00 น.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ดำเนินการจัดตั้ง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นฐานสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในภูมิภาค 4 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นฐานสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านนวัตกรรมโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย
โครงการที่ 1 อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร (โดรน) ที่มีคุณสมบัติโดยการออกแบบทางวิศวกรรมของโครงสร้างลำตัวเครื่อง ซึ่งสามารถพ่นของเหลวไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ปุ๋ย หรือสารเคมีทางการเกษตร ทำจากวัสดุที่ป้องกันการกัดกร่อน แบกน้ำหนักได้ถึง 15 กิโลกรัมมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าคนถึง 40 เท่า สามารถทำงานได้ถึง 15 – 20 ไร่ต่อชั่วโมง และยังสามารถป้องกันการเสียหายของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากละอองน้ำหรือละอองฝนได้
โครงการที่ 2 Product Name ระบบควบคุมโรงเรือนอัจฉริยะผ่านสมาร์ทโฟน (Smart Think) เป็นการควรคุมโรงเรือนอัจฉริยะควบคุมผ่านสมาร์ทโฟน ที่มีความสามารถในการควบคุมและการตัดสินใจในการสั่งงานแบบอัตโนมัติแทนมนุษย์ หรือให้ผู้ใช้งานสามารถสั่งงานทางไกลจากภายนอกฟอร์มผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ตามรูปแบบการทำงานของ ไอโอที (IOT internet of think) โดยในระบบควบคุมโรงเรือนและสวนอัจฉริยะสมาร์ทฟาร์ม จะมีเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่คอยทำงานตรวจสอบ ค่าต่างๆ แล้วส่งข้อมูลเพื่อนำกลับมาคำนวณ และสั่งการทำงานตามระบบที่ตั้งไว้ให้ทำงานได้ตามความต้องการรวมไปถึงระบบวางแผนการปลูก วางแผนการตลาดผ่านระบบแอปพลิเคชั่นในระบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต การตลาดของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรและพ่อค้าคนกลางสามารถทราบข้อมูลเข้าถึงกันและกันได้อย่างรวดเร็ว การจัดการด้านระบบควบคุมทางการเกษตรของผัก และผลไม้ เครื่อง Smart think สามารถวัดค่า pH เพื่อควบคุมช่วงของค่า pH ที่ทำให้พืชเติบโตได้ดีและสม่ำเสมอ วัดค่า Ec เพื่อควบคุมปริมาณปุ๋ยทำให้พืชสามารถดูดซึมน้ำและอาหารได้ดี วัดค่าอุณหภูมิเพื่อให้ผักอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเติบโต และวัดค่าความชื้นเพื่อควบคุมการเกิดโรคของผัก ลดปริมาณต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำได้ที่สิ้นเปลืองได้ ลดปริมาณต้นทุนในการใช้ปุ๋ย เนื่องจากควบคุมปริมาณการผสมปุ๋ยกับน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสม ทำให้ค่า EC ทำให้ผักดูดซึมน้ำและอาหารได้ดี และวัดค่า pH ให้อยู่ในช่วงที่พืชเจริญเติบโตได้ดีและสม่ำเสมอ และสามารถลดปริมาณต้นทุนค่าใช้จ่ายของในการจ้างคน เนื่องจากสามารถควบคุมการทำงานต่างๆ ผ่านระบบอัตโนมัติและยังสามารถสั่งการผ่านระบบ Smart Phone และคอมพิวเตอร์ได้
และโครงการที่ 3 หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม สัญชาติไทย มุ่งพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูงสู่ไทยแลนด์ 4.0 ผลิตโดยการใช้องค์ความรู้ เครื่องมืออุปกรณ์และแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ พร้อมทั้งการนำเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล อิเลคทรอนิคส์ และวิศวกรรมซอฟต์แวร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับให้หุ่นยนต์มีความสามารถเทียบเท่ากับหุ่นยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ราคาไม่แพง มีฟังชั่นการใช้งานเป็นภาษาไทยใช้งานง่าย ซึ่งหุ่นยนต์ที่ผลิตแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์แขนกลประเภท Welding สามารถเชื่อม Pallet สามารถยกวาง และหุ่นยนต์แขนกลประเภท Painting ใช้สำหรับพ่นสีได้
นวัตกรรมทั้ง 3 โครงการนี้ เป็นนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ด้านการพัฒนาและตอบสนองการสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่และภูมิภาคได้ ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลอย่างแท้จริง ผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าว
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว