รัฐบาลหนุนผลิตแพทย์ กระจายสู่ชนบท 3 พันคน/ปี
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ และภัยพิบัติต่าง ๆ ส่งผลต่อความต้องการบริการสุขภาพของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ขณะที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์ในภูมิภาคยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่แท้จริง
ที่ผ่านมามีความพยายามของรัฐบาลที่จะผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น ผ่านโครงการผลิตแพทย์เพิ่มของประเทศไทย อย่างเช่น โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่า จำนวนแพทย์ของไทยเพิ่มมากขึ้นและสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรดีขึ้นตามลำดับ แต่จำนวนแพทย์ในภูมิภาคยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนการรับสมัครนักศึกษาแพทย์ในบางโครงการ เช่น แพทย์ชนบท ประสบปัญหามีผู้สมัครน้อย เนื่องจากจะรับเฉพาะผู้ที่อยู่ในภูมิลำเนาตามที่กำหนดไว้เท่านั้น ทำให้อัตราการกระจายตัวของแพทย์ในเขตเมืองและเขตชนบทไม่สมดุลกัน
ล่าสุดรัฐบาลได้เห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี 2561 - 2570 วงเงินงบประมาณ 34,838.4 ล้านบาท เพื่อผลิตแพทย์เพิ่มและกระจายแพทย์สู่ชนบท โดยจะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 (ปี 2561 - 2564) ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนแพทย์ 9,168 คน ซึ่งเมื่อรวมกับแผนการรับปกติจะทำให้รับนักศึกษาแพทย์ได้ทั้งหมด 12,556 คน
สำหรับการรับนักศึกษาแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขและสถาบันผลิตแพทย์ได้กำหนดโควตาและพื้นที่รับนักเรียนเข้าศึกษาต่อ เมื่อจบการศึกษาแล้วต้องกลับไปปฏิบัติงานในจังหวัดภูมิลำเนา หรือเขตสุขภาพที่กำหนดไว้ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ รับนักเรียนชั้น ม.6 พื้นที่ชายขอบ พื้นที่ขาดแคลน หรือนักเรียนที่มีภูมิลำเนาไม่อยู่ในเขตอำเภอเมือง
2. กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน รับนักเรียนชั้น ม.6 ที่ผู้ปกครองมีภูมิลำเนาในจังหวัดที่สมัครต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี
3. กลุ่มจบการศึกษาปริญญาตรี เน้นรับข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขที่จบปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต 5 ปี
โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนบริหารจัดการกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการพัฒนาแพทย์ให้เพียงพอรองรับบริการด้านสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศได้ประมาณ 3,000 คนต่อปี
ด้านการจัดการศึกษาจะเน้นหลักสูตรที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน สร้างความผูกพันกับชุมชน กระจายแพทย์ไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลน และเชื่อมโยงกับโครงการคลินิกหมอครอบครัว ที่แพทย์ต้องทำงานกับชุมชนและดูแลผู้ป่วยในระดับท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ประชาชนสุขภาพดี ภาคีมีส่วนร่วม กำลังคนมีความสุข”
ข่าว : กลุ่มสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี