3 หน่วยงาน ลงพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำในช่วงเกิดเหตุอุทกภัย
วันที่ 19 กันยายน 2562 คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ร่วม “แผนปฏิบัติการเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำในช่วงเกิดเหตุอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี” ภายใต้แผนปฏิบัติการของ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 อุบลราชธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมทีมนักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข และนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมรับฟังการชี้แจงการดำเนินงานและร่วมดำเนินกิจกรรมการตรวจวัดคุณภาพน้ำแม่น้ำมูล ณ บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
นายประเดิม ภาคแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 ชี้แจงการติดตามและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำแม่น้ำมูลช่วงเกิดเหตุอุทกภัยในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ และอำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ตามแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำในช่วงเกิดเหตุอุทกภัยจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2562 รวมระยะเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อรายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำให้จังหวัดและประชาชนทราบ เป็นไปตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว ก่อนที่ทีมนักวิชาการจะแยกย้ายกันลงพื้นที่ปฏิบัติงานตามจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำที่แต่ละหน่วยงานได้รับผิดชอบต่อไป
นายประเดิม ภาคแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันอังคารที่ 17 กันยายน 2562 ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 อุบลราชธานี ได้จัดประชุมหารือเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติงานเฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำแม่น้ำมูล ลำมูลน้อย และลำโดมใหญ่ ในช่วงเกิดเหตุอุทกภัย จังหวัดอุบลราชานี ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 อุบลราชธานี โดยได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี ในการดำเนินงานดังกล่าว และมีแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในช่วงเกิดเหตุอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี โดยดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำภาคสนาม ได้แก่ ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ค่าการนำไฟฟ้า (Conductivity) ค่าความเค็ม (Salinity) และค่าของแข็งละลายน้ำทั้งหมด (TDS) เป็นประจำทุกวันที่ 19 กันยายน 2562 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2562 รวมระยะเวลา 3 สัปดาห์ เพื่อรายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำให้จังหวัดและประชาชนทราบ จำนวน 9 จุด แม่น้ำมูล จุดตรวจวัดคุณภาพน้ำ สะพานหาดคูเดื่อ ต.แจระแม อ.เมือง สะพานเสรีประชาธิปไตย ต.ในเมือง อ.เมือง สะพาน 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง และ ลำโดมใหญ่ สะพานบ้านสะพานโดม ต.โพธิ์ไทร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 ทำหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำ ในส่วนของแม่น้ำมูลสะพานกุดศรีมังคละ อ.วารินชำราบ สะพานกุดปลาขาว อ.วารินชำราบ
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำ และสะพานบ้านบัวเทิง ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำ ในส่วนของลำมูลน้อยสะพานบ้านท่าวังหิน ต.ในเมือง อ.เมือง และสะพานถนนเลี่ยงเมือง บ้านท่าบ่อ ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ทำหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำ และทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 จะดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อนำไปตรวจวัดคุณภาพน้ำ ณ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 อุบลราชธานี จำนวน 8 จุด รวม 3 ครั้ง ในวันที่ 19 กันยายน วันที่ 25 กันยายน และวันที่ 2 ตุลาคม 2562 จากนั้นก็จะร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดอุบลราชธานี วิเคราะห์และรายงานผลคุณภาพน้ำต่อผู้ว่าราชการจัดหวัดอุบลราชธานี เพื่อแจ้งเตือนประชาชนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2562 รายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำจังหวัดอุบลราชธานี โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 อุบลราชธานี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำภาคสนามในแม่น้ำมูล จำนวน 6 จุด มีผลการตรวจวัดค่า DO มีค่าอยู่ระหว่าง 1.9 – 3.9 mg/L จัดอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ถึง เสื่อมโทรมมาก
แม่น้ำลำมูลน้อย จำนวน 2 จุด มีผลการตรวจวัดค่า DO อยู่ระหว่าง 4.2 – 4.9 mg/L จัดอยู่ในเกณฑ์พอใช้
แม่น้ำลำโดมใหญ่ จำนวน 1 จุด มีผลการตรวจวัดค่า DO เท่ากับ 3.7 mg/L อยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ค่าความเป็นกรด – ด่าง (pH)
ทั้ง 3 แม่น้ำ มีค่าอยู่ระหว่าง 5.1 – 6.7 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของคุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน สภาพโดยทั่วไปของแม่น้ำ ยังคงมีระดับน้ำท่วมสูง น้ำไหลแรง บางจุดมีเศษขยะพลาสติก โฟมพัดพามากับสายน้ำเป็นจำนวนมาก ข้อแจ้งเตือน ยังไม่ควรใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยตรง จะต้องทำการฆ่าเชื้อโรคและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อน
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ภาพ/ข่าว