ครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการ ขยาย รพ.สรรพสิทธิประสงค์
วันที่ 24 กรกฎาคม 2561 นายอดุลย์ นิลเปรม รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.อุบลราชธานี (สอท.อุบลฯ) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เดินทางมาประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 23 – 24 ก.ค. 2561 ถือเป็นโอกาสอันดีของประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลฯ ,ศรีสะเกษ ,ยโสธร ,อำนาจเจริญ) ซึ่ง สอท.อุบลฯ เป็นหนึ่งในตัวแทนของภาคเอกชนที่ได้ร่วมประชุมกับภาครัฐทั้ง 4 จังหวัด ก่อนนำเรื่องเข้าเสนอต่อ ครม. อันประกอบด้วยแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาโลจิสติกส์ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้านการยกระดับการผลิต ด้านคุณภาพชีวิต และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนทั้ง 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง 2 แล้ว
โดยโครงการสำคัญที่ถูกนำเสนอต่อ ครม.ในครั้งนี้ ประกอบด้วย โครงการขยายโครงข่ายทางถนนให้เป็น 4 ช่องจราจร วังหิน-ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ และการขยายถนนเป็น 4 เลน เส้น 2169 ยโสธร-เลิงนกทา , เส้น 292 เลี่ยงเมืองยโสธร , เส้น 2083+2351 มหาชนะชัย ค้อวัง-ยางชุมน้อย , เส้น 202 ยโสธร – อำนาจเจริญ , เส้น 2178 วาริน-กันทรลักษ์ (ซึ่งถูกน้ำท่วมบ่อยครั้ง) และ เส้น 231 สายรอบเมืองอุบลฯ ทางฝั่งตะวันออก
และการเร่งรัดศึกษาความเหมาะสมด้านการสร้างถนนเชื่อมสนามบินนานาชาติอุบลฯ อีกหนึ่งเส้นทาง ผ่านกองบิน 21 , การขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินนานาชาติ และการเพิ่มลานจอดเครื่องบิน และสะพานเชื่อมเครื่องบินกับอาคารผู้โดยสาร ของสนามบินนานาชาติอุบลฯ และยังได้เสนอ ครม.เพื่อขอให้ความเห็นชอบในการเร่งรัดการศึกษาเพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟวารินชำราบ-ช่องเม็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของการยกระดับการผลิต ม.อุบลฯ มีการเสนอโครงการสร้างโรงงานต้นแบบ หรือ PILOT PLANTs เพื่อเป็นต้นแบบด้านอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง สำหรับสตาร์ทอัพ ที่สำคัญด้านคุณภาพชีวิต ได้ยกกรณีโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ที่มีความแออัด เพื่อให้ ครม.เห็นชอบให้มีการขยายโรงพยาบาลไปในพื้นที่ทหารที่ อ.วารินชำราบ เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ใช้บริการที่มากขึ้น และยังมีโครงการพัฒนาเมืองสมุนไพรไทย-พนา โครงการขยายศักยภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม
ส่วนในภาคอุตสาหกรรม ทางสภาอุตสาหกรรม จ.อุบลราชธานี ได้นำเสนอเรื่องขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตลอดจนการเสนอเพื่อให้อุบลฯ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร (Bio Hub) และการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่อีสานตอนล่าง 2 เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการที่เสนอเข้าสู่ ครม. โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างและขยายถนน ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่ในแผนของกระทรวงคมนาคมอยู่แล้ว รวมทั้งเรื่องสะพานข้ามแห่น้ำโขงแห่งที่ 6 ที่ อ.นาตาล ที่ทางกลุ่มฯ ได้เสนอเข้าสู่ ครม. เช่นกัน แต่การนำเสนอเพื่อให้รัฐบาลเร่งรัดให้สามารถดำเนินโครงการเร็วขึ้น เพื่อให้ทันต่อความต้องการของพื้นที่ เช่น โครงการที่อยู่ในแผน ปี 2565 ก็ควรย่นระยะเวลาการดำเนินการขึ้นมาเป็นปี 62 หรือ 63 เป็นต้น
ส่วนโครงการที่ถูกนำเสนอและถือว่ามีความสำคัญต่อชาวอุบลฯ และชาวอีสานตอนล่าง 2 อย่างมาก อีกโครงการคือ การขยายโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี เนื่องจากมีความคับแคบและประใช้บริการมาก จึงขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อขยายโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ไปยังพื้นที่ทหาร มทบ.22 ที่ยินดีให้พื้นที่จำนวน 187 ไร่ เพื่อโครงการดังกล่าว โดยโครงการทั้งหมดนี้ รัฐบาลได้รับหลักการเพื่อให้ดำเนินการทุกด้านซึ่งใช้งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท