ชาวอุบลฯ นับหมื่นคนรำถวายมือพิธีบวงสรวงเจ้าคำผง
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยผู้แทนจากจังหวัดยโสธร และอำนาจเจริญ นำหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิเจ้าคำผง สถานศึกษาและภาคเอกชน จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี ประจำปี 2561
พิธีเริ่มด้วยการสักการะพระเจ้าใหญ่องค์หลวง และรูปจำลองพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ที่วัดหลวง วัดประจำเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อัญเชิญรูปจำลองนำขบวนอัญเชิญเครื่องยศเจ้าเมืองตามแบบโบราณ จากวัดหลวงสู่บริเวณอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) ณ มณฑลพิธีทุ่งศรีเมือง เพื่อประกอบพิธีบวงสรวง สักการะ สดุดีวีรกรรมพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคำผง) พิธีวางขันหมากเบ็งจากหน่วยงานต่างๆ สุดท้ายเป็นการรำถวายมือ จากนักเรียน นักศึกษา และประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี จำนวนนับหมื่นคน
พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคําผง) เป็นบุตรของพระเจ้าตา และนางบุศดี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2252 ที่นครเวียงจันทร์ เป็นหลานปู่เจ้าปางคํา ราชวงศ์เชียงรุ้ง ซึ่งเจ้าปางคําได้อพยพมาสร้างเมืองหนองบัวลุ่มภู (หนองบัวลําภู ในปัจจุบัน) หรือ นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
เจ้าคําผงได้เสกสมรสกับเจ้านางตุ่ย ธิดาอุปราช (ธรรมเทโว) อนุชาของพระเจ้าองค์หลวง (ไชยกุมาร) เจ้านครจําปาศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระประทุมสุรราช เมื่อปี พ.ศ.2323 อันเป็นตําแหน่งนายก กองใหญ่คุมเลก (ไพร่) อยู่ที่บ้านดู่ บ้านแก ขึ้นกับนครจําปาศักดิ์
ปี พ.ศ.2329 ได้ย้ายครอบครัวและไพร่พลจากบ้านดู่ บ้านแก มาตั้งบ้านเมืองใหม่ ที่ตําบลห้วยแจระแม โดยพระบรมราชาอนุญาตในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “เมืองอุบล” จากการร่วมปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว ในปี พ.ศ.2334 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระประทุมสุรราช (เจ้าคําผง) เป็นพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ และยกฐานะเมืองอุบลเป็น “เมืองอุบลราชธานี ศรีวะนาไล ประเทษราช”
กรณียกิจที่สําคัญของพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคําผง) มีดังนี้
1. การก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี และการสร้างวัดวาอารามต่างๆ หลังจากสร้างเมืองบริเวณดงอู่ผึ้ง ริมฝั่งแม่น้ํามูล โปรดให้สร้างวัดหลวง เพื่อเป็นที่สถิตของท่านหอเจ้าหลักคํา ต่อมามีการสร้างวัดเหนือ วัดกลาง วัดใต้ วัดป่าใหญ่ และวัดหนองยาง
2. การปกครองและศาสนา ท่านปกครองไพร่ฟ้าประชาชน ด้วยความเป็นธรรม และสงบเรียบร้อย ซึ่งเห็นได้จากการทํานุบํารุงการศาสนา และการศึกษาในเขตเมืองอุบลราชธานี
3. ด้านสงคราม พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ เป็นทหารเอก ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เข้าช่วยเหลือการสงครามระหว่างไทยกับหัวเมืองประเทศราชหลายครั้งต่อหลายครั้ง จนถือว่าเป็นเมืองข้าหลวงผู้จงรักภักดีต่อกรุงเทพฯ และมีส่วนในการปราบปรามความไม่สงบที่เกิดขึ้นในหัวเมือง เช่น สงครามปราบเขมรใน พ.ศ.2323 และร่วมปราบกบฏอ้ายเชียงแก้ว จนพรรคพวกอ้ายเชียงแก้วราบคาบ
พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ครองเมืองอุบลราชธานี มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2321 จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2338 รวม 17 ปี จนถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2338 สิริอายุได้ 85 ปี ทําศพเมรุนกหัสดีลิงค์ เผาที่ทุ่งศรีเมือง แล้วเก็บอัฐิบรรจุธาตุไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง ปัจจุบันอัฐิได้นําไว้ที่วัดหลวง อําเภอเมืองอุบลราชธานี
คุณงามความดีพระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคําผง) ได้สั่งสมไว้ อันเปรียบเสมือนเปลวไฟที่ลุกโชติช่วงในดวงใจของชาวอุบลราชธานีทุกคน เกียรติคุณของท่านนั้น หาได้เสื่อมคลายไปจากจิตใจของลูกหลานชาวอุบลไม่ วันนี้เป็นวันที่ลูกหลานชาวอุบล ได้พร้อมใจกันรําลึกถึงพระคุณท่าน จึงจัดให้มีพิธีบวงสรวง และสดุดีวีรกรรม ขึ้น ณ อนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าคําผง) ทุ่งศรีเมือง อําเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นอนุสรณ์สืบต่อไป