จ.ขอนแก่น เชิญนางเทียมนางสีดา คนอุบล ทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์
ในวันที่ 19 มกราคม 2562 จังหวัดขอนแก่น ได้จัดขบวนอัญญาสี่เดินทางมาจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเชิญเจ้านางสีดาไปฆ่านกหัสดีลิงค์ ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่เมรุชั่วคราววัดหนองแวง พระอารามหลวง จังหวัดขอนแก่น ด้านหลัง มณฑลอีสาน ริมถนนเลี่ยงเมืองขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ในวันที่ 29 มกราคม 2562 นี้
ตำนานนกหัสดีลิงค์ มีว่าสมัยโบราณหลายพันปีมาแล้ว ในนครตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้ามหานคร พระมหากษัตริย์แห่งนครนั้นถึงแก่สวรรคต ตามธรรมเนียมต้องอัญเชิญพระศพออกไปฌาปนกิจที่ทุ่งหลวง ในครั้งนั้นพระมหาเทวีให้จัดการพระศพตามโบราณประเพณี ได้แห่พระศพออกจากพระราชวังไปยังทุ่งหลวงเพื่อถวายพระเพลิง ขณะนั้นมีนกสักกะไดลิงค์ หรือนกหัสดีลิงค์ ซึ่งกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารบินมาจากป่าหิมพานต์ นกได้เห็นพระศพคิดว่า เป็นอาหารของเขา จึงบินโฉบลงมาเอาพระศพจะไปกิน เมื่อพระมหาเทวีเห็นเช่นนั้น ก็ประกาศให้คนดีต่อสู้นกหัสดีลิงค์เพื่อเอาพระศพคืนมา คนทั้งหลายก็อาสาต่อสู้นกหัสดีลิงค์ไม่ได้ ถูกนกหัสดีลิงค์จับกินหมด
ในครั้งนี้ ธิดาแห่งพญาตักกะศิลาจึงเข้ารับอาสาสู้นกหัสดีลิงค์นั้น นางมีนามว่า สีดา นางได้ใช้ศรอาบยาพิษยิงนกหัสดีลิงค์ นกหัสดีลิงค์ถึงแก่ความตาย ตกลงมาพร้อมพระศพแห่งกษัตริย์องค์นั้น พระมาหาเทวีจึงโปรดสั่งให้ช่างทำเมรุคือ หอแก้วบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนหลังนกหัสดีลิงค์ แล้วถวายพระเพลิงไปพร้อมกัน
หลังจากนั้นมา เจ้านายในพระราชวงศ์นั้น แห่งเมืองตักกะศิลาเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าได้ถือเอาประเพณี ทำเมรุนกหัสดีลิงค์ หรือนกสักกะไดลิงค์นั้นขึ้น เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิง ถวายแก่เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ถึงแก่อสัญกรรม ประเพณีนี้จึงถือกันมาตลอดสายกษัตริย์องค์นั้น สืบทอดกันมาจนถึงเจ้านายเมืองอุบลราชธานี และเชื้อสายของเมืองตักกะศิลา จึงรับสืบทอดมรดกพิธีนี้มาเป็นประจำเอง
ภาพจากเพจ คณะละคอนสุดสะแนน
การฆ่านกหัสดีลิงค์ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2324 ถึงปัจจุบันเท่าที่มีบันทึกไว้ นางสีดาได้ฆ่านกหัสดีลิงค์มาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ตัว นางสีดาตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจุบัน มี 6 รุ่น ประกอบด้วย 1.ญาแม่นางงัว ฆ่านกฯ ครั้งแรกปี 2324 2.ญาแม่สุกัญ ปราบภัย (บุตรีญาแม่นางงัว) 3.ญาแม่มณีจันทร์ ผ่องสิลป์ (บุตรีญาแม่สุกัญ) 4.คุณยายสมวาสนา รัศมี (บุตรีญาแม่มณีจันทร์) 5.คุณยายประทิน วันทาพงษ์ (บุตรีญาแม่มณีจันทร์, พี่สาวคุณยายสมวาสนา) และ 6.คุณเมทินี หวานอารมย์ (หลานคุณยายประทิน)
นางสาวเมทินี หวานอารมย์ กล่าวว่า การที่ตนมาเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดานั้น ไม่ใช่การสืบเชื้อสายที่ใครๆ ก็เลือกที่จะเป็นได้ เพราะในรุ่นของ แม่มณีจันทร์ มาถึงรุ่น แม่สมวาสนา ซึ่งมีลูกคือ แม่ประทิน แต่รุ่นลูกของแม่ประทินนั้น ไม่มีใครสืบชื้อสายนางสีดา การสืบเชื้อสายนางสีดาจึงหายไปในบางช่วง กระทั่งมาถึงคุณเมทินี ซึ่งเป็นรุ่นเหลนที่มาเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดาแห่งเมืองอุบลราชธานี โดยคนในครอบครัวบอกว่า คุณเมทินีนั้นเคยประสบอุบัติเหตุ ถึงขั้นที่แพทย์ ญาติพี่น้องว่าตายไปแล้ว แต่มีบางคนยังไม่เชื่อ จึงกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงบอกกล่าวนางสีดาตามเชื้อสายที่เรียงลำดับกันมาว่า หากนางเมทินีฟื้นคืนชีพ ยินดีที่จะเป็นร่างทรง หรือผู้เชื้อสายนางสีดาต่อไป จากนั้น นางเมทินีก็ฟื้นคืนชีพ และเป็นผู้สืบเชื้อสายนางสีดาสายเมืองอุบลในปัจจุบัน
สำหรับ นางสาวเมทินี หวานอารมย์ เป็นนางเทียมนางสีดา ฆ่านกหัสดีลิงค์ งานสุดท้าย ในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระสิริพัฒนาภรณ์ (สมหมาย โชติปุญโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง และอดีตเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ณ เมรุนกหัสดีลิงค์ วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับการเชิญนางสีดาไปประกอบพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์นั้น เจ้าภาพ (จังหวัดขอนแก่น) จะแต่งตั้งตัวแทนอัญญาสี่ไปเชิญเจ้านางสีดาโดยผ่านนางเทียมหรือคนทรง ในที่นี้คือ นางสาวเมทินี หวานอารมย์ โดยตัวแทนอัญญาสี่ต้องนำขันธ์ห้าไปเชิญ เมื่อนางเทียมรับขันธ์เชิญและเรียกค่าบูชาครูแล้ว คณะเจ้าภาพก็ลากลับ นางเทียมก็จะได้ตระเตรียมบอกเล่าไปให้บริวารมาช่วยงานตามกำหนด