ม.อุบลฯ ร่วมกับ สกว. นำร่องอุบลโมเดล เมืองแห่งการวิจัยและพัฒนาอาหาร
วันที่ 29 มีนาคม 2562 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมทุนเพื่อดำเนินโครงการและจัดเวทีชี้แจง “นวัตกรรมและเทคโนโลยีแปรรูปอาหารปลอดภัยครบวงจร” ณ ห้องประชุมตลาดเทศบาล 3 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าโครงการ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์
การจัดโครงการครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อได้ต้นแบบตลาดอาหารปลอดภัยของจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพื้นที่นำร่อง คือ ตลาดเทศบาล 3 (ตลาดใหญ่) และ ตลาดดอนกลาง เพื่อพัฒนาและสนับสนุนการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนอง การแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดในมิติเศรษฐกิจและอาชีพ ภายใต้ประเด็น “นวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหารปลอดภัย” และเพื่อพัฒนาระบบจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ และพัฒนาระบบสนับสนุนที่เอื้อให้เกิดการเติบโตของการทำงานวิจัยรับใช้พื้นที่ หรือสังคมของมหาวิทยาลัยได้อย่างแท้จริง
ดร.จริยาภรณ์ อุ่นวงษ์ ผู้บริหารโครงการวิจัยและทีมนักวิจัย “นวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหารปลอดภัย” ได้นำเสนอกระบวนการทำงานวิจัยประเด็น “การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี” เพื่อการยกระดับความปลอดภัยของอาหารในจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงทำการวิจัยแบบบูรณาการในประเด็น “ห่วงโซ่คุณค่าสำหรับการบริหารจัดการตลาดสด” ซึ่งประกอบด้วย
- ระบบการจัดการตลาด การวางแผนระยะสั้น-ยาว การวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (Firm infrastructure)
- ระบบการพัฒนาทักษะของผู้ค้าด้านการพัฒนาคุณภาพของการให้บริการแก่ลูกค้าและการมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริหารตลาดและพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด (Human resources management)
- การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะกับบริบท เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ตลาด (Technology development)
- ระบบการวางแผนและการสื่อสารกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวก (Procurement)
- การจัดหา และขนส่งสินค้า (Inbound Logistics)
- ระบบการจัดวางสินค้า กระบวนการให้บริการแก่ลูกค้า (Operation)
- ระบบการจัดการของเสีย น้ำเสีย ขยะและการดูแลสุขอนามัย การตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร (Outbound Logistics)
- การตลาดและการประชาสัมพันธ์ตลาดสด (Marketing and Sales) และ
- การให้คำแนะนำ การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคด้านอาหารปลอดภัย (After-Sale Service)
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า จากประกาศแผนนำร่อง “อุบลราชธานีโมเดล” เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงภายใน 5 ปี เพื่อพัฒนาสู่ “เมืองแห่งการวิจัยและพัฒนาอาหาร” ประกอบกับนโยบายในการพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี คือ การมุ่งสร้างความเข็มแข็งให้แก่ชุมชน การพัฒนาเมืองให้มีความน่าอยู่ และการเป็นเมืองเศรษฐกิจด้านการค้าชายแดน การท่องเที่ยวและการเกษตร ดังวิสัยทัศน์ที่ว่า “ชุมชนเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ เป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยว การเกษตรมีศักยภาพ”
และเพื่อให้ก้าวถึงซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าว จังหวัดอุบลราชธานีจำเป็นที่จะต้องสร้างสุขภาวะองค์รวม โดยการยกระดับความปลอดภัยด้านอาหารและด้านสิ่งแวดล้อม จึงจะสามารถนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีการยกระดับการพัฒนาจังหวัดดังกล่าว คือ การพัฒนานวัตกรรมตลาดปลอดภัยอย่างยั่งยืน ตลาดมีบทบาทในการกระจายสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้บริโภค จึงเป็นช่องทางที่สามารถส่งผ่านทั้งความปลอดภัยและความเสี่ยงต่อสุขภาพแก่ผู้บริโภคได้ เพื่อสร้างคุณค่าแห่งการเป็นเมืองน่าอยู่ของจังหวัดอุบลราชธานีให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภายในระยะ 20 ปี
สำหรับโครงการดังกล่าว ได้รับความความร่วมมือจากบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แก่ คณะบริหารศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และความร่วมมือของหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานเทศบาลนครอุบลราชธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ผู้บริหารตลาดดอนกลาง ผู้ประกอบการในตลาดเทศบาล 3 และตลาดดอนกลาง ภายใต้โครงการที่ได้รับการอนุมัติทุน ชุดโครงการวิจัย การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่
- โครงการศึกษาศักยภาพการผลิต แปรรูปอาหารปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี
- โครงการการพัฒนาระบบการบริหารจัดการตลาดอย่างมีส่วนร่วม เพื่อยกระดับสู่การเป็นตลาดปลอดภัยอย่างยั่งยืนในจังหวัดอุบลราชธานี และ
- โครงการย่อยกลยุทธ์ทางการตลาด สำหรับตลาดปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี
และภายใต้โครงการวิจัย เรื่อง สถานการณ์ตลาดปลอดภัยและการประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ห่วงโซ่คุณค่าทางอาหารในจังหวัดอุบลราชธานี โครงการวิจัย เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติที่ดีสำหรับตลาดปลอดภัย โครงการวิจัย เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อพัฒนาสู่ตลาดปลอดภัย โครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาระบบการจัดวางสินค้าและกระบวนการให้บริการสำหรับตลาดปลอดภัย และโครงการวิจัย เรื่อง ระบบจัดการของเสีย และสุขอนามัยสำหรับตลาดปลอดภัยในจังหวัดอุบลราชธานี
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว