อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เยี่ยมชมผลงานอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อุบลฯ
วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ พร้อมคณะจากพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี เยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รองศาสตราจารย์ ดร. ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อมคณะอาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้การต้อนรับ
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และคณะ เยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมผู้ประกอบการและชมการสาธิตเครื่องผสม Formic Acid แบบอัตโนมัติ การทำงานของโดรนอัจฉริยะเพี่อการเกษตร ผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้ายทอมือ และชมการสาธิตอุปกรณ์วัดสารตะกั่วในน้ำเสีย รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบต่างๆ
จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร. ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อหาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME , Startup ในพื้นที่ให้เกิดศักยภาพสู่การส่งออกในต่างประเทศต่อไป ณ ห้อง SEC101 อาคารศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี ได้มาเยี่ยมชมงานวิจัยนวัตกรรมเชิงพาณิชย์และการบ่มเพาะผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประทับใจมาก เพราะรามองว่ามหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากไปสู่ตลาดโลก ซึ่งมาในวันนี้พบว่ามีผลงานวิจัยหลายอย่าง ซึ่งได้ริเริ่มจากนักวิจัยและทางมหาวิทยาลัย อาจารย์ ได้ถูกพัฒนาไปเชิงพาณิชย์แล้ว และมีวางจำหน่ายในประเทศแล้ว แต่กระทรวงพาณิชย์มองว่า เราสามารถต่อยอดและเชื่อมโยงการตลาดและช่วยบ่มเพาะให้งานในประเทศสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ด้วย นอกจากนั้นก็มองว่าทางมหาวิทยาลัยได้มีการบ่มเพาะ Startup ไว้อยู่หลายส่วน ซึ่ง SME หลายคนก็ได้เป็นผู้ส่งออกและได้เป็นสมาชิกของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมองในแง่นี้ว่า ถ้าต้นแบบจะเกิดจากจังหวัดอุบลราชธานี ขยายเอามหาวิทยาลัยในพื้นที่และก็เชื่อมโยงไปสู่การตลาดระหว่างประเทศก็สามารถทำให้ประเทศเราสามารถที่จะมีการเติบโต โดยเฉพาะการประกอบการค้าระหว่างประเทศได้อย่างเติบโตมั่นคง และยั่งยืนต่อไป
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว