guideubon

 

สสจ.อุบลฯ แถลงสรุปสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดอุบลราชธานี

โรคไข้เลือดออก-สสจ-อุบล-01.jpg

วันที่ 13 มิถุนายน 2562 นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เปิดแถลงข่าว สถานการไข้เลือดออกจังหวัดอุบลราชธานี สถานการณ์แพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ คาดการณ์ว่าปีนี้จะระบาดหนักเหมือนปี 2542 ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 10 มิถุนายน 2562 พบป่วย 2,396 คน เสียชีวิตแล้ว 9 คน พื้นที่การระบาดพบครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ แต่ระบาดหนักในอำเภอน้ำขุ่น น้ำยืน บุณฑริก สิรินธร เดชอุดม และนาจะหลวย โดยที่่อำเภอนาจะหลวยมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 5 คน

โรคไข้เลือดออก-สสจ-อุบล-02.jpg

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในระดับประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าปี 2562 นี้จะระบาดอย่างต่อเนื่องและตลอดทั้งปี สถานการณ์ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2562) จังหวัดอุบลราชธานี พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก รายใหม่ 84 ราย และสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – ปัจจุบัน รวม 2,396 ราย เสียชีวิต 9 ราย กลุ่มอายุที่ อัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ 10 -14 ปี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จึงขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมทั้งจิตอาสา เพื่อรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทุกสถานที่ ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน วัด และโรงพยาบาล ยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้มีความเสี่ยงที่โรคไข้เลือดออกอาจจะแพร่กระจาย และขยายเป็นวงกว้าง

โรคไข้เลือดออก-สสจ-อุบล-03.jpg

จังหวัดอุบลราชธานีได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operations Center: EOC) ระดับจังหวัด และระดับอำเภอทุกอำเภอ เพื่อควบคุมการระบาดของโรค เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม ไม่ให้เกินค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สั่งการให้ทุกหมู่บ้านชุมชน อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมทรัพยากรเพื่อป้องกันควบคุมโรค โดยการกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 7 วันอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูฝน พร้อมพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายในพื้นที่มีการระบาดของโรค

โรคไข้เลือดออก-สสจ-อุบล-04.jpg

สสจ.อุบลราชธานี ร่วมกับ สคร.10 อุบลราชธานี จัดทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เป็น 4 ทีม ลงสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ในการควบคุมโรค จัดประชุมพัฒนาศักยภาพแพทย์ พยาบาล เรื่องวินิจฉัย รักษาพยาบาลและจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จัดหาวัสดุ อุปกรณ์การแพทย์ เคมีภัณฑ์ เครื่องพ่นยุง มุ้ง ยาทากันยุง เพื่อใช้ในการควบคุมโรค โรงพยาบาลทุกแห่ง กำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ พ่นเคมีกำจัดยุงลาย กางมุ้งให้ผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ให้ผู้ป่วยทายากันยุงทุกรายจนหายขาด และจัดทำ Dengue corner ทุกแห่ง

โรคไข้เลือดออก-สสจ-อุบล-05.jpg

โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียารักษาให้หาย ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูง 3–7 วัน ซึม บางรายมีอาการคล้ายไข้หวัด หรืออุจจาระร่วงร่วมด้วย การรักษาเป็นการประคับประคองให้พ้นช่วงวิกฤติคือระยะหลังไข้ลงภายใน 48 ชั่วโมง หากมาพบแพทย์ช้า หรือรักษาไม่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ แต่ทางโรงพยาบาลต่างๆ มีเครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ (Infusion pump) ซึ่งจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยไม่เพียงพอ จึงได้ทำการประกาศขอรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ทางสื่อโซเชียล เช่น เว็บไซต์ไกด์อุบลดอทคอม และสื่ออื่นๆ มีผู้บริจาคเงินและเครื่อง Infusion pump ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ดังนี้

โรคไข้เลือดออก-สสจ-อุบล-06.jpg

1. บริษัทเดอฟิวเจอโร บริจาค เครื่อง Infusion pump จำนวน 5 เครื่อง มูลค่า 255,000 บาท
2. บริษัทศิริวงศ์เอ็นจิเนียริ่งจำกัด บริจาค เครื่อง Infusion Pump จำนวน 5 เครื่องมูลค่า 250,000 บาท
3. บริษัทเวทโปรดักส์ บริจาค เครื่อง Infusion Pump พร้อมจำนวน 10 เครื่องมูลค่า 550,000 บาท
4. ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิทยาการพิมพ์(คุณสมชัย-อรพรรณวีระวงศ์อโณทัย) บริจาคเครื่อง Infusion Pump จำนวน 1 เครื่องมูลค่า 30000 บาท (ส่งผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี )
5. นางอัมพร วัชรเดชประพันธ์ บริจาคเครื่อง Infusion Pump จำนวน 1 เครื่องรุ่นที่ TE-LF 600 มูลค่า 53,500 บาท
6. บริษัทยิ่งยงมินิมาร์ทจำกัด(คุณไพบูลย์จงสุวัฒน์ ) บริจาคเครื่อง Infusion Pump จำนวน 4 เครื่องรุ่นTE-LF600 มูลค่า 214,000 บาท
7. กลุ่มชาวอุบลเพื่อนคุณไพบูลย์ จงสุวัฒน์ บริจาคเครื่อง Infusion Pump จำนวน 2 เครื่อง รุ่น LF600 มูลค่า 107, 000 บาท

รวมได้รับบริจาคเครื่อง Infusion Pump จำนวน 19 เครื่องมูลค่า 1,009,500 บาท

สรุปบัญชีเงินฝากธนาคาร เงินบริจาคโรงพยาบาลนาจะหลวย ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2562 ยอดเงิน 1,114,126.14 บาท 
- ธนาคารออมสินหมายเลขบัญชี 5574000025 ยอดเงินบริจาค 852,936.84 บาท
-ธนาคารกรุงไทยเป๋าตุงหมายเลขบัญชี 3131371323 บาท ยอดเงินบริจาค 261,189.30 บาท